ศาสนาขงจื้อ
ศาสนาขงจื้อ
จุดเด่นและความเป็นมาโดยสังเขปของศาสนาขงจื๊อ
ศาสนาขงจื้อ(Confucianism) เป็นศาสนาหนึ่งที่มีแหล่งกำเนิดในผืนแผ่นดินใหญ่จีน อันเป็นดินแดนเอเชียตะวันออก(East Asia) เป็นศาสนาในสายมองโกล มีชื่อตามชื่อของศาสดา เพราะศาสดาชื่อว่า ขงจื๊อ(Kung Tze) เดิมทีเดียวตั้งแต่สมัยขงจื๊อยังมีชีวิตอยู่มิได้ถือว่าคำสอนต่างๆของขงจื๊อเป็นศาสนา แต่เมื่อขงจื๊อสิ้นชีวิตแล้ว ศิษยานุศิษย์และผู้ศรัทธาในคำสอน ได้พากันยกย่องสรรเสริญ ประกอบกับทั้งทางราชการก็ได้ประกาศให้มีการบูชาขงจื๊อ จึงได้กลายเป็นศาสนามีคนยอมรับนับถือเป็นศาสนิกชนมากมาย จนปัจจุบันมีผู้นับถือไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน ประมาณร้อยละ 90 อยู่ในผืนแผ่นดินใหญ่จีน นอกนั้นกระจัดกระจายอยู่ในญี่ปุ่น ประเทศในเอเชียอื่นๆบ้าง หรือแม้แต่ในยุโรปและอเมริกา แต่โดยเฉลี่ยแล้วจำนวนน้อยมากในแต่ละแห่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้นับถือขงจื๊อส่วนมากนับถือเต๋าและพุทธ หรือชินโตด้วย
ศาสนาขงจื๊อจะมีคำสอนที่เน้นมากในเรื่องความมั่นคงของสังคม และการปกครอง รวมทั้งประเพณีที่ดีงาม จะเห็นได้จากหลักคำสอนต่างๆทางด้านจริยศาสตร์หรือศีลธรรม เพื่อให้คนได้ประพฤติดีปฏิบัติตาม อันจะยังผลให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข และคำสอนต่างๆอันเป็นหลักรัฐศาสตร์ เพื่อให้ผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครองได้สำนึกในหน้าที่ของตน แล้วปฏิบัติให้เหมาะสมแก่หน้าที่นั้นๆ เพราะสังคมจะดีได้จะต้องมีผู้นำและผู้ตามที่ดี ส่วนประเพณีที่ดีงามต่างๆ นั้นเป็นสื่อในการสร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม และยังเป็นการแสดงเอกลักษณ์และความเป็นอารยะของเผ่าพันธุ์ชนชาติ ตลอดทั้งกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย
ศาสดาของศาสนาขงจื๊อ
เช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆดังที่กล่าวมาแล้ว ศาสนาขงจ๊อก็มีผู้ก่อกำเนิดในฐานะศาสดา นั่นก็คือ ขงจื๊อ ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Confucius อันเป็นภาษาละติน อ่านว่า คอนฟูซิอุส ตรงกับคำว่า กุงฟูจื่อ ในภาษาจีนกลาง และขงฮูจื้อ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า ขง เป็นชื่อสกุล คือ ตระกูลขง ส่วนคำว่า จื๊อ แปลว่า ครู อาจารย์ หรือนักปราชญ์ เมื่อรวมกันเข้าก็คงแปลได้ความว่า ตระกูลครูอาจารย์ หรือตระกูลนักปราชญ์
ชาติกำเนิดและปฐมวัย
ขงจื๊อเกิดเมื่อประมาณ 551 ปีก่อน ค.ศ. หรือ 8 ปีก่อน พ.ศ. ในตระกูลชง(แช่ขง) เป็นตระกูลทหารยากจนในแคว้นลู้ ปัจจุบันคือจังหวัดฉุ่ฝูในมณฑลชานตุง ทางภาคเหนือของประเทศจีน บิดาเป็นทหารชื่อ จูงเหลียงโห หรือซกเหลียงยิด เป็นคนมีกำลังแข็งแรงเกินคนธรรมดา มารดาชื่อจินไจ ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อขงจื๊อเกิด จูเหลียงโฮผู้บิดามีอายุ 70 ปี และมารดาก็คลอดขงจื๊อในถ้ำภูเขาแห่งหนึ่ง การที่บิดาขงจื๊อต้องมีอายุแก่มากเช่นนั้น กล่าวกันว่าจูเหลียงโฮได้แต่งงานไม่มีบุตรชายมีแต่บุตรหญิง มีบุตรชายคนหนึ่งก็เป็นลูกเมียลับ และเป็นเด็กพิการอีกด้วย จึงไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้เกิดกับเมียแต่งงานกัน ประเพณีถือว่าจะต้องมีบุตรชายที่เกิดกับเมียที่แต่งงานเท่านั้น เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณของพ่อ เมื่อพ่อตายไปแล้วดวงวิญญาณจึงจะได้รับความผาสุก ดังนั้นการที่ไม่มีบุตรชายที่เกิดจากเมียที่แต่งงานกันทำการเซ่นสรวงบูชาดวงวิญญาณนั้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลและกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา จึงทำให้จูเหลียงโฮขบคิดว่าจะต้องมีบุตรชายให้ได้ เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณของตน จูเหลียงโหจึงตัดสินใจแต่งงานอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุได้ 70 ปี กับหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น และเมื่อแต่งงานใหม่ก็ได้บุตรชายสมความตั้งใจ คือ ขงจื๊อ พอขงจื๊ออายุได้ 3 ขวบ ก็เหมือนกับคนมีกรรมที่ต้องกำพร้าพ่อ เพราะพ่อตายเมื่อขงจื๊ออายุได้ 3 ขวบเท่านั้น มารดาผู้เป็นแม่หม้ายสาวซึ่งมีอายุ 17 ปี ก็ได้พยายามต่อสู้ความยากจนเลี้ยงดูบุตรของตนให้เติบใหญ่ด้วยความเหนื่อยยาก จนกระทั่งขงจื๊อพอจะช่วยตนเองและช่วยแม่ทำมาหาเลี้ยงชีพ ขงจื๊อต้องทำงานหนัก ต้องเลี้ยงมารดาตอบแทนบุญคุณ มีนิสัยใฝ่การศึกษา แต่กว่าจะได้เริ่มเรียนวิชาความรู้อย่างจริงจังก็เมื่ออายุ 15 ปี เรียนหนังสืออยู่ 3 ปี และเมื่ออายุ 18 ปีก็ได้เข้าทำงานในกรมฉางหลวงของแคว้นลู้ เฝ้าสัตว์เลี้ยงของหลวง เนื่องจากขงจื๊อเป็นคนฉลาดขยันขันแข็งซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ทำให้ผู้ใหญ่ชอบ เข้าผู้ใหญ่ได้ทุกชั้น จึงได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ แม้แต่เจ้าแคว้นลู้เองก็โปรดปราน ทำให้ขงจื๊อก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ชีวิตสมรส
เมื่อขงจื๊ออายุได้ 19 ปี ก็ได้ตกลงปลงใจแต่งงานกับหญิงตระกูลดีคนหนึ่ง ในวันแต่งงานขงจื๊อได้รับเกียรติอย่างสูงจากเจ้าแคว้นลู้ ที่ส่งปลาสองตัวมาให้เป็นของขวัญ ขงจื๊อจึงถือเป็นศุภนิมิตว่า ถ้ามีลูกจะตั้งชื่อว่าโปยู้ แปลว่า ปลางาม และก็ได้เป็นจริงดังตั้งใจ กล่าวคือ เมื่อแต่งงานไม่นานก็ได้บุตรชายคนหนึ่ง และได้ตั้งชื่อให้ว่าโปยู้สมปรารถนา แต่เป็นคราวเคราะห์ร้ายของขงจื๊ออีกเหมือนกัน เพราะต่อไปนี้ขงจื๊อจะต้องเป็นกำพร้าขาดทั้งพ่อขาดทั้งแม่ ปรากฏว่าใกล้ๆเวลาที่ได้แต่งงานนั้นมารดาของขงจื๊อก็ถึงแก่กรรมลง เมื่อขงจื๊อแต่งงานแล้วก็ทิ้งบ้านเดิมของตน พาภรรยาไปปลูกกระท่อมหลังเล็กอยู่ติดกับที่ฝังศพมารดา ขงจื๊ออยู่ที่นั่น 3 ปี ต่อมาชีวิตสมรสก็ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไรนัก เพราะขงจื๊อมีความรู้สึกโน้มน้าวไปในทางธรรมมาก มุ่งงานศึกษามาก ชอบคิดและคิดด้วยตนเองมาก ขงจื๊อค่อนข้างเป็นคนเคราะห์ร้ายเรื่องครอบครัว เพราะลูกไม่ได้เป็นปราชญ์ตามเชื้อสายพ่อ และไม่ค่อยปรากฏเรื่องของลูกและภรรยาในชีวประวัติ
ชีวิตมัชฌิมวัย
ตั้งแต่ขงจื๊อได้เข้ารับราชการตั้งแต่อายุ 18 และก็ได้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมาตามลำดับ จนได้รับความไว้วางใจจากเจ้าแคว้นลู้แต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฉางหลวง(ธนาคารข้าว) มีหน้าที่ตรวจเก็บภาษีข้าวเปลือกที่ชาวนาจะนำขึ้นฉางหลวงของเจ้าเมืองลู้ ระหว่างรับราชการอยู่ปรากฏว่าเป็นคนรอบรู้ในจารีตประเพณีกว่าผู้ใด ผู้ใดจะประกอบพิธีอันใดขงจื้อเป็นผู้ทำให้ทั้งหมด ที่สุดจึงกลายเป็นพิธีกร เป็นอาจารย์ของคนทั้งหลายโดยปริยาย ส่วนที่สำคัญ ชีวิตราชการทำให้ขงจื๊อได้เห็นความเหลวแหลก ความไม่ยุติธรรมของข้าราชการ ข้อนี้เป็นแรงดันให้ขงจื๊อคิดแก้ไขความเหลวแหลกทั้งหลายในแผ่นดิน
ในขณะที่ขงจื๊อมีความตั้งใจจะแก้ไขความประพฤติของข้าราชการ และใคร่จะสั่งสอนคนให้เป็นพลเมืองดีเพื่อช่วยเหลือบ้านเมือง พอดีเกิดความผันผวนขึ้นในบ้านเมือง เจ้าผู้ครองนครลู้ต้องหลบภัยการเมืองออกจากแคว้นนั้นไป ขงจื๊อหลบภัยตามไปด้วย มีข้าราชการผู้ซื่อสัตย์หมู่หนึ่งขอเป็นศิษย์ติดตามไป เพราะเลื่อมใสอยากทำราชการอยู่ใกล้กับขงจื๊อ
ชีวิตในตอนหลังระหกระเหินมาก ขงจื๊อเข้ารับราชการอยู่กับผู้ครองแคว้นอีกแห่งหนึ่ง คือ แคว้นจี มีความสนใจในเรืองการบ้านการเมือง ต้องการจะให้รัฐบาลปกครองคนด้วยความผาสุก ขงจื๊อวางหลักการปกครองบ้านเมืองไว้เช่นที่ว่า
“ วิธีจะมีรัฐบาลที่ดี ผู้ปกครองควรจะต้องปกครองจริงๆ เสนาบดีต้องทำหน้าที่เสนาบดี พ่อต่อต้องทำหน้าที่ของพ่อ ลูกต้องทำหน้าที่ของลูก”
"ประชากรเป็นส่วนสำคัญที่สุดของรัฐ สวรรค์ย่อมเห็นตรงกับมหาชนเสมอ สวรรค์ฟังเสียงมหาชน ฉะนั้นผู้ปกครองรัฐหรือประเทศต้องเอาชนะใจประชาชนเสียก่อนแล้วจึงจะได้อาณาจักร หากไม่เอาชนะใจประชาชนแล้ว อาณาจักรก็จะหลุดลอยไป"
“ประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งรัฐบาลใดๆควรจะได้ ไม่ใช่มาจากการเก็บภาษีอากรอันเป็นที่เดือดร้อนของประชาชน แต่ประโยชน์ต้องมาจากคนทั้งหลายที่มีความประพฤติดี มีความเชื่อว่ารัฐบาลปกครองด้วยดี”
หลักการปกครองหรือหลักรัฐศาสตร์ของขงจื๊อนี้ ในตอนแรกก็ไม่ค่อยได้รับความเอาใจใส่มากนัก แต่ขงจื๊อมีความพยายามสอนคนอยู่เสมอไม่เคยทอดทิ้งหน้าที่ครู สอนเรื่อยไป จนมีศิษย์ในเวลานั้นประมาณ 3,000 คน และศิษย์ส่วนมากมาจากตระกูลยากจน ไม่ใช่เฉพาะสอนหลักรัฐศาสตร์เท่านั้น ที่เน้นมากก็คือ ศีลธรรม ต้องการที่จะจรรโลงประเทศให้มีความเจริญด้วยศีลธรรม เป็นการแก้ไขปัญหาสังคม เช่น ได้วางหลักสายสัมพันธ์ 5 ประการให้คนรู้จักหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน จนถึงกับได้ตั้งโรงเรียนสอนจริยธรรมขึ้น ขงจื้อจึงกลายเป็นอาจารย์คนแรก ได้สั่งสอนวิชาศีลธรรมวัฒนธรรมและปรัชญาอย่างจริงจังในสมัยนั้น ศิษย์ของขงจื๊อก็ทวีมากขึ้นตามลำดับ หลักปรัชญาที่ขงจื๊อสอนเช่นที่ว่า “ถ้าท่านยังไม่รู้ความเกิด จะไปรู้ความตายได้อย่างไร” "ถ้าท่านไม่อยากให้คนอื่นทำอันตรายแก่ท่าน ท่านก็อย่าไปทำอันตรายแก่คนอื่น” ยิ่งวันผ่านไปความพยายามของขงจื๊อก็ไม่เคยย่อหย่อน และศิษย์ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีชื่อเสียงขจรขจายไปไกล ในที่สุดบ้านเมืองเห็นความดีจึงแต่งตั้งขงจื๊อให้เป็นผู้มีหน้าที่ตรวจราชการฝ่ายยุติธรรมตามหัวเมืองต่างๆ ปรากฏว่าขงจื๊อยิ่งมีโอกาสได้ศึกษาความเป็นไปของคนและการบ้านการเมืองในที่ต่างๆ เมื่อไปตรวจราชการ เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยเคลื่อนที่ แห่งใดมีการปกครองดีขงจื๊อก็ส่งเสริม แห่งใดมีการปกครองไม่ยุติธรรมขงจื๊อก็ช่วยเหลือแก้ไขการปกครองของแคว้นนั้นๆเรื่อยไป ได้พยายามท่องเที่ยวสั่งสอนคนอยู่อย่างนี้เป็นเวลากว่า 10 ปี จึงกลับเข้าไปอยู่ในแคว้นลู้ตามเดิม ทางแคว้นลู้ขอร้องให้ขงจื๊อเข้ารับราชการอีก แต่ขงจื๊อปฏิเสธ เพราะต้องการจะใช้เวลาสั่งสอนคนและในบั้นปลายชีวิตต้องการใช้เวลารวบรวมคำสอนของตนขึ้นเป็นตำรา และปรับปรุงแก้ไขตำราเก่าๆที่เคยใช้สอนแต่งไว้ให้ดีขึ้น
บั้นปลายชีวิต
เมื่ออายุ 69 ปี ขงจื๊อได้รวบรวมคำสอนของตนขึ้นเป็นตำรา มีวิชาปรัชญา วิชากาพย์กลอน วิทยาศาสตร์ วิชายิงธนู ประวัติศาสตร์ และวิชาดนตรี ด้วยวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่ขงจื๊อเคยสอนมาทั้งหมด ขงจื๊อไม่ส่งเสริมการกระทำใดๆที่ฟุ่มเฟือย ศิษย์ที่ขงจื๊อพอใจมากที่สุดคือ ศิษย์ที่มีวิชาหนังสือดีและยิงธนูดี
ขงจื๊อถึงแก่กรรมด้วยอารมณ์ไม่สู้ราบรื่นนัก เมื่ออายุ 73 ปี ในปี ค.ศ. 479 ก่อน ค.ศ. ก่อนสิ้นชีพขงจื๊อพูดว่า “คนที่น่ากลัวที่สุดคือ เสนาบดีผู้ทรยศ และลูกที่ไม่เชื่อฟัง” และเมื่อใกล้จะหมดลมหายใจได้กล่าวไว้เป็นคติแห่งชีวิตว่า “ขุนเขาจะต้องสลายไป เสาหลักอันแข็งแกร่งก็จะหักสะบั้นลงไป ชีวิตของนักปราชญ์ก็ร่วงโรยไปเหมือนรุกขชาติ ในอาณาจักรนี้ไม่มีใครเชื่อฟังเรา เวลาของเรามาถึงแล้ว”
หลังจากที่ขงจื๊อล่วงลับไปแล้ว บรรดาผู้เลื่อมใสได้พากันรวบรวมคำสอนและหนังสือที่ขงจื๊อแต่งไว้ในหลักวิชาทางรัฐศาสตร์และศาสนา กลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์และมีค่าสูง นอกจากนี้ศิษยานุศิษย์ของขงจื๊อได้ช่วยกันเผยแพร่หลักจริยธรรมของขงจื๊อเป็นการใหญ่ พร้อมทั้งเผยแพร่คุณงามความดีของขงจื๊อด้วย จนในที่สุดต่อมาขงจื๊อก็ได้รับสมญานามว่าเป็นศาสดาองค์หนึ่ง และตำสอนของขงจื๊อก็เลื่อนฐานะเป็นศาสนามา ดังปรากฏประจักษ์อยู่ทุกวันนี้
คัมภีร์ศาสนาของขงจื๊อ
คัมภีร์ของศาสนาขงจื๊อ คือ เกง ทั้ง 5 และ ซู ทั้ง 4 คำว่า เกง หรือ กิง แปลว่า เล่ม บ้าง วรรณคดีชั้นสูง บ้าง ส่วนคำว่า ซู แปลว่า หนังสือ หรือ ตำรา เป็นคัมภีร์ที่จารึกด้วยภาษาจีน ขงจื๊อแต่งขึ้น หลานและศิษย์และนักปราชญ์หลายคน เช่น เม่งจื๊อ เป็นผู้รวบรวม
1. เกงทั้ง 5 คือ
1)ซี-กิง(Shi-King) เป็นกาพย์พรรณนาถึงหลักศีลธรรมและพระเกียรติพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ ซึ่งขงจื๊อแต่งเอง มี 305 บท
2) ซู-กิง(Shu-King) ขงจื้อเป็นผู้แต่งเอง มีเนื้อหาเป็นประวัติศาสตร์จีน ตั้งแต่ราชงศ์ถังจนถึงราชวงศ์มุกุง แฝงด้วยหลักจริยธรรมลึกซึ้ง
3) ยิ-กิง(Yi-King) เป็นคัมภีร์ที่บรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงทางจักรวาลวิทยา ขงจื๊อเขียนเองโดยสรุปเนื้อหาจากคัมภีร์เก่าๆ
4) ลิ-กิง(Li-King) เป็นคัมภีร์ว่าด้วยจารีตประเพณี พิธีกรรมต่างๆในสังคมจีนโบราณ เช่น พิธีรับรองบุตร พิธีแต่งงาน พิธีเซ่นไหว้ พิธีไว้ทุกข์ เป็นต้น ขงจื๊อเป็นผู้รวบรวมขึ้น เพราะถือว่าจารีตประเพณีเป็นรากฐานอันมั่นคงของชีวิต
5) ซุน-ชิว(Shun-Tsin) เป็นคัมภีร์ที่ขงจื๊อบรรยายถึงประวัติศาสตร์สมัยเจ้าผู้ครองแคว้นลู้ 12 คน
2. ซู ทั้ง 4 คือ
1) ต้าเซี่ยว(Ta Hsio) ศิษย์ของขงจื๊อเรียบเรียงจากคัมภีร์ลิ-กิง มีเนื้อหาว่าด้วยคุณธรรม
2) จุง-ยุง (Chun-Yung) เรียบเรียงจากคัมภีร์ลิ-กิงเช่นเดียวกัน ว่าด้วยการปฏิบัติสายกลาง
3) ลุน ยู (Lun Yu ) เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมภาษิตของขงจื๊อโดยสานุศิษย์
4) เม่งจื๊อ (Meng Tze) เม่งจื๊อเป็นชื่อของศิษย์ของขงจื๊อคนหนึ่ง มีชีวิตอยู่หลังขงจื๊อสิ้นชีวิตประมาณ 100 ปี ได้รวบรวมคำสอนของอาจารย์ขึ้นเป็นคัมภีร์
หลักคำสอนสำคัญบางประการของศาสนาขงจื๊อ
1.หัวใจของนักปกครอง
หัวใจอันเป็นหลักรัฐศาสตรืสำหรับผู้ปกครองมี 5 ประการ คือ
1) เหยิน(ความเมตตากรุณา) มุ่งทำงานเพื่อความผาสุก ความกินดีอยู่ดีของประชาชน โดยถือว่าความกินดีอยู่ดีเป็นยอดปรารถนาของนักปกครอง
2) ยิ(ความถูกต้อง) คือ ไม่ทำสิ่งที่ท่านไม่ต้องการผู้อื่น
3) ลิ(ความเหมาะสม) ประพฤติต่อคนอื่นด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีงามเสมอ
4) ซิ(ปัญญา) คือ ใช้ปัญญา ความเข้าใจ เป็นดวงประทีปในการทำงาน อย่าใช้อารมณ์ ให้ใช้เหตุผลนั่นเอง
5) ซุน(ความเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้) กล่าวคือ มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อทุกคน เพราะขงจื๊อถือว่าถ้าปราศจากความไว้วาใจเสียแล้ว โลกนี้จะตั้งอยู่ไม่ได้เลย
2.สายสัมพันธ์ทั้ง 5
งานหลักของขงจื๊อคือ งานแก้ไขสังคม ชำแหละความฟอนเฟะของสังคมให้สะอาด และความเหลวแหลกของการปกครองให้เรียบร้อย จึงวางหลักอันเป็นสายสัมพันธ์ที่เป็นหน้าที่อันบุคคลพึงปฏิบัติต่อกันและกันในสังคมไว้ 5 สาย คือ
1) สายสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง
2) สายสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา
3) สายสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา
4) สายสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง
5) สายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อน
3.หลักรัฐศาสตร์บางประการ เช่น
-ประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุดของรัฐ สรรค์ย่อมเห็นตรงกับประชาชนเห็น สวรรค์ฟังเหมือนประชาชนฟัง เพราะเสียงประชาชนเท่ากับเสียงสวรรค์ ผู้ปกครองต้องเอาชนะใจประชาชนให้ได้ จึงจะคุมอาณาจักรไว้ได้ หากไม่เช่นนั้นแล้วอาณาจักรก็หลุดลอย
-ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ที่รัฐบาลใดๆควรได้รับ ไม่ใช่มาจากเก็บภาษีอากร อันเป็นความเดือดร้อนของประชาชน แต่ต้องมาจากการที่ประชาชนมีความประพฤติดี และมีความเชื่อว่ารัฐบาลปกครองด้วยดี
-ผู้ขบถหรือทรยศโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เป็นผู้ทำตัวให้อยู่ระดับต่ำกว่าสังคม แต่ผู้ปกครองที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรมชื่อว่าเป็นผู้ทำตนให้ต่ำยิ่งกว่านั้น
-วิธีจะมีรัฐบาลที่ดี ผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้ปกครองจริง เสนาบดีจะต้องทำหน้าที่เสนาบดีจริงๆ พ่อต้องทำหน้าที่พ่อจริงๆ ลูกต้องทำหน้าที่ลูกจริงๆ
พิธีกรรมของศาสนาขงจื๊อ
1.การบูชาขงจื๊อ ที่หลุมฝังศพ จะมีคนโดยเฉพาะชาวศาสนิกขงจื๊อไปทำพิธีเซ่นไหว้บูชาเป็นประจำ
2.การบูชาฟ้าดินและพระจันทร์พระอาทิตย์ ในปีหนึ่งๆจะมีรัฐพิธีบูชา 4 ครั้ง เป็นการบูชาฟ้าครั้งหนึ่ง บูชาดินครั้งหนึ่ง บูชาพระอาทิตย์ครั้งหนึ่ง และบูชาพระจันทร์ครั้งหนึ่ง โดยกระทำใน 4 ฤดู และ ณ สถานที่ 4 ทิศของกรุงปักกิ่ง การบูชาธรรมชาติทั้ง 4 นี้จะกระทำในกาลเวลาที่ต่างกันและสถานที่ต่างกัน
3.พิธีเคารพบูชา เทียน และวิญญาณบรรพบุรุษชาวจีนได้ค้นพบความมีอยู่ของเทพเจ้า เทียน และเชื่อกันโดยทั่วไปว่า เทพเจ้าเทียน นั้นประทับอยู่บนสวรรค์ฟากฟ้าอย่างแน่นอน เหตุนี้พวกเขาจึงพากันทำพิธีเคารพ เทียน ผู้เป็นเจ้าแห่งเทพทั้งปวง ผู้คุ้มครองโลก ทรงเป็นวิญญาณแห่งดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ฝน ไฟ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ภูเขา และลำน้ำ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ให้การเคารพบูชาวิญญาณของบรรพบุรุษของตน รวมทั้งบูชาดวงวิญญาณแห่งผู้บริสุทธิ์และวีรชนด้วย โดยเฉพาะดวงวิญญาณแห่งองค์จักรพรรดิ ถือว่าเป็นดวงวิญญาณแห่งความบริสุทธิ์
จุดหมายปลายทางสูงสุดของศาสนาขงจื๊อ
ศาสนาขงจื๊อมีจุดหมายปลายทางแห่งชีวิต อันเป็นความสุขที่แท้จริงและนิรันดร คือ เทียน หรือสวรรค์ เอกชนผู้ปฏิบัติชอบตายไปแล้วก็เป็นวิญญาณฝ่ายชอบที่จะเข้าถึงสวรรค์ได้ในที่สุด วิธีปฏิบัติให้เข้าถึงสวรรค์ได้ ต้องตั้งอยู่ในคุณธรรมของศาสนา โดยมีจริยธรรมทางกายทางวาจาและทางใจครบถ้วนในตนเอง
นิกายของศาสนาขงจื๊อ
ในสมัยราชวงศ์ซุง ได้มีศาสนิกชนของขงจื๊อพวกใหม่ เกิดขึ้น พวกนี้ยอมรับเอาความคิดเรื่องหยิน-หยาง รวมทั้งการเซ่นไหว้ตามประเพณีโบราณเข้ามาไว้ในหลักการของตนด้วย เพาะฉะนั้นเมื่อมีพวกใหม่ที่ผนวกความเชื่อพิธีกรรมเช่นว่านี้เข้าไป ส่วนพวกนับถือแบบเดิมหรือแบบเก่าก็ต้องมีอยู่ ก็อาจจะมีความลางเลือนแห่งความเป็นนิกายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ชัดเจนจนถึงขนาดจะกล่าวว่าเป็นนิกาย
สัญลักษณ์ของศาสนาขงจื๊อ
1.สัญลักษณ์ของศาสนาขงจื๊อโดยตรงได้แก่ รูปขงจื๊อ อาจจะเป็นรูปหล่อ รูปปั้น หรือแม้แต่รูปเขียน รูปวาด โดยอ้อมได้แก่ รูปคนจีนแต่งตัวโบราณ กำลังประสานมือแสดงคารวะต่อกัน เป็นภาพแสดงถึงวัฒนธรรมหรือมารยาททางสังคม ซึ่งขงจื๊อได้สอนเอาไว้ในคัมภีร์ลี-กิง
2.สัญลักษณ์อีกอย่างคือ หยิน-หยาง เป็นภาพวงกลมแบ่งเป็นสองส่วนเท่ากันด้วยเส้นเว้า อันแสดงถึงธรรมชาติของโลก และของมนุษย์ที่มีลักษณะเป็นคู่ๆเช่นเดียวกับสัญลักษณ์ของศาสนาเต๋า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น