วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประวัติศาสนาคริสต์


   ประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์


ประวัติความเป็นมาของศาสนาและผู้ก่อตั้งศาสนา
ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย และเผยแพร่อย่างรุ่งโรจน์ในโลกตะวันตก ประวัติศาสตร์ของศาสนามีความยาวนานสืบทอดมาแต่ศาสนายิว แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากศาสนายิวในช่วงของการเผยแพร่ศาสนา คือ ในสมัยที่พระเยซูออกสั่งสอนประชาชน อย่างไรก็ตามศาสนาคริสต์ยังคงยืนหยัดต่อสู่กระแสต้านของสังคมตะวันตกในสมัยนั้นมาได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะ นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์มีจิตใจศรัทธาพระเจ้าอย่างเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยความ เสียสละ จึงประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้พวกตะวันตกในสมัยต่อมาได้เข้าสู่กระแสศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า
ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์มีความสัมพันธ์กับศาสนายิวอย่างใกล้ชิด จนเป็นที่ยอมรับกันว่าทั้งสองศาสนานี้มีลักษณะเป็นศาสนาแห่งประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เป็นผู้กำหนด แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าได้เข้ามาเกี่ยวข้องและกำหนดมรรคาแห่งชีวิตที่ทุกคนจะต้องดำเนินไปอย่างถูกต้อง บุคคลในประวัติศาสตร์ของทั้งสองศาสนานี้ อาทิเช่น อับราฮัม (Abraham) โยเซฟ (Joseph) โมเสส (Moses) และกษัตริย์โซโลมอน (Solomon) ฯลฯ ล้วนเป็นศาสดาที่พระเจ้าได้ทรงกำหนดให้เป็นไปตามแผนที่พระองค์ได้วางไว้เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ให้ถึงความรอด (Salvation) คัมภีร์ไบเบิลทั้งสองภาค พันธสัญญาจึงเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์ของทั้งสองศาสนา
ประวัติศาสตร์ศาสนายูดายของพวกยิว ทำให้เราเห็นว่า พวกเขามีความผูกพันกับ พระเจ้ามาก เพราะพวกเขาเชื่อว่าตนเองเป็นชาติที่พระเจ้าได้เลือกให้เป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต พระองค์ได้สัญญากับพวกเขา ที่จะให้ดินแดนที่เต็มไปด้วยน้ำผึ้งและน้ำนม พวกเขาจึงเดินทางเร่ร่อนเพื่อจะหาดินแดนที่พระเจ้าได้สัญญาไว้นี้ ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานในการเดินทางของพวกยิว พวกเขาต้องประสพกับความทุกข์ยาก การกดขี่ และภัยจากสงครามของชนชาติ มหาอำนาจ ทำให้พวกเขาต่างรอคอยพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าจะส่งมาเพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นทุกข์ และเป็นผู้ที่จะนำสันติสุขที่แท้จริงมาสู่พวกเขา
ศาสดาประกาศกหลายท่านได้ทำนายเกี่ยวกับการมาของ พระเมสสิยาห์ ยิ่งทำให้ชาวยิวมีความหวังมากขึ้น แม้ในปัจจุบันนี้ชาวยิวในศาสนายูดายยังคง รอคอยอยู่ แต่สำหรับชาวคริสต์พระเมสสิยาห์ คือ พระเยซูคริสต์ (Jesus Christ) บังเกิดขึ้นมาในตำบลเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อเบธเลเฮม(Bethlehem)ในแคว้นยูดาห์ ตรงกับปีพุทธศักราช 543วันที่บังเกิดขึ้นไม่มีการบันทึกแน่นอน แต่ศาสนจักรได้กำหนดเอาวันที่ 25 ธันวาคม ของ(คาทอลิก) ของออร์โธด็อกซ์ กำนดเอาวันที่ 7 มกราคม ของทุกปี เป็นวันเริ่มคริสตศักราชที่ 1 มารดามีนามว่า มารีอา (Maria) ชาวคริสต์เชื่อกันว่า นางมารีอานั้นตั้งครรภ์ไม่เหมือนสตรีอื่น เพราะเป็นการตั้งครรภ์โดยอานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้นพระเยซูจึงเป็นบุตรของพระเจ้า ส่วนโยเซฟ (Joseph) นั้นเป็น บิดาเลี้ยงที่มีสายเลือดสืบมาแต่กษัตริย์ดาวิด
พระเยซูในวัยเด็กนั้นมีจิตใจที่ใฝ่ในธรรม มีความชอบใจที่จะพูดถึงเรื่องธรรมกับ นักศาสนา ครั้นมีอายุได้ 30 ปี จึงรับบัพติศมา (Baptism) หรือการรับศีลล้างบาปจากยอห์น (John) ซึ่งเป็น ศาสดานักบุญในสมัยนั้น การรับศีลล้างบาปนี้กระทำที่แม่น้ำจอร์แดน ต่อมาพิธีนี้ได้กลายเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ ของชาวคริสต์ทุกคนที่จะต้องกระทำเพื่อประกาศตนเป็นคริสต์ศาสนิกชน
หลังจากนั้นพระเยซูได้ออกเทศนาทั่วประเทศเพื่อประกาศ "ข่าวประเสริฐ" อันเป็นหนทางแห่งความรอดพ้นจากบาปไปสู่ชีวิตนิรันดร์ การประกาศศาสนาของพระเยซูนั้นไม่ใช่เพื่อล้มล้างศาสนายูดาย แต่เป็นการปฏิรูปศาสนาเดิมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเน้นความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ในขณะนั้นได้มีผู้สนใจคำสอนของพระเยซู แต่ส่วนมากเป็นชนชั้นชาวบ้าน ที่ยากจนและชาวประมง พระเยซูได้คัดเลือกสาวกจากบุคคลเหล่านี้ได้ทั้งหมด 12 คน
สาวกทั้ง 12 คนนี้ ได้ติดตามรับใช้พระเยซูอย่างใกล้ชิดเพื่อเผยแพร่ศาสนา แต่กระนั้นก็ยังมีสาวกที่มีจิตใจดื้อดึง คือ ยูดาส อิสคาริออท (Judas Iscariot) ยอมทรยศเพื่อเห็นแก่เงินสินบน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากคำสอนของพระเยซูมีส่วนทำให้ผู้นำศาสนา ยูดาย ขุนนางและคน ร่ำรวยบังเกิดความไม่พอใจ เพราะถูกตำหนิจึงโกรธแค้นคิดหาทางทำร้าย ด้วยการจับตัวไปขึ้นศาลของเจ้าเมืองชาวโรมัน โดยยูดายรับอาสาชี้ตัวพระเยซู เมื่อวันที่ผู้นำศาสนา ยูดายมาจับตัวพระเยซูไป สาวกทั้ง 11 คน ได้รีบหลบหนีทิ้งให้พระเยซูถูกจับไปลงโทษ โดยการตรึงกับไม้กางเขนพระเยซูถูกทรมานอย่างโหดร้ายทารุณจนสิ้นพระชนม์ในขณะที่มีพระชนมายุได้ 33 ปี เท่านั้น จึงใช้เวลาประกาศศาสนาเพียง 3 ปี
ชาวคริสต์เชื่อกันว่าหลังจากที่พระเยซูได้สิ้นพระชนม์ไป 3 วันแล้วได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง โดยปรากฏแก่สาวกทั้ง 11 คน พวกเขาได้ทดสอบพระเยซูหลายครั้งจนมั่นใจว่าการฟื้นคืนชีพของพระเยซูนั้นไม่ใช่เรื่องหลอกลวงแต่เป็นจริง ประกอบกับการเทศนาสั่งสอนย้ำให้สาวกทั้งหลายมีความเข้าใจในพระคัมภีร์ พวกเขาทั้ง 11 คน ได้กลับไปกรุงเยรูซาเล็ม จึงร่วมกันอธิษฐานอย่างขะมักเขม้น นับแต่นั้นมาอัครสาวกทั้ง 11 คน และมัทธีอัส (Matthias) ซึ่งได้รับเลือกเข้ามาในภายหลังรวมเป็น 12 คน ได้ช่วยกันเผยแพร่ศาสนาอย่างมั่นคงทำให้มีผู้เข้ามาเป็นสาวกของพระเจ้ามากมาย แต่ในขณะเดียวกันการเผยแพร่ศาสนามีความลำบากเป็นอย่างมาก เพราะถูกต่อต้านอยู่เสมอจากพวกที่นับถือศาสนายูดาย
ในบรรดาสาวกของพระเยซูนักบุญเปโตร (Petro) ได้รับการแต่งตั้งจากพระเยซูให้เป็น หัวหน้าโดยนัยนี้ท่านจึงเป็นผู้นำสูงสุดของศาสนาคริสต์เป็นคนแรก นักบุญเปโตรได้เผยแพร่ศาสนาถึงกรุงโรม และได้เลือกกรุงโรมเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานของศาสนจักร ในบั้นปลายชีวิตของท่านนั้นได้ถูกพวกทหารโรมันจับทรมานและประหารชีวิต
ความเจริญของศาสนาคริสต์ได้มีมายาวนาน จนกระทั่งถึงยุคล่าอาณานิคมของพวกจักรวรรดิ์นิยมชาวยุโรปและอเมริกัน ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ศาสนาคริสต์ได้ถูกนำไปเผยแพร่ในประเทศต่าง ๆ ที่นักล่าอาณานิคมเหล่านี้ไปถึง ทำให้คริสต์ศาสนิกชน มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทั้งในทวีปยุโรป อาฟริกา อเมริกา เอเชีย และออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยได้มีนักสอนศาสนาชาวโปรตุเกสและสเปนเข้ามาเผยแพร่ โดยเดินทางมาพร้อมกับพวกทหารและพ่อค้าของประเทศเหล่านั้น ทำให้มีคนไทยนับถือศาสนาคริสต์กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ

                                                  คัมภีร์ของศาสนาคริสต์



ศาสนาคริสต์และศาสนายูดาย ต่างให้ความเคารพในคัมภีร์ไบเบิ้ล โดยถือว่าเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพระวาจาของพระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนหนทางแห่งความรอดจากทุกข์ทั้งปวง ความหมายของ "ไบเบิล" (Bible) คือ "หนังสือหลายเล่ม ชุดหนังสือ" เพราะเป็นความหมายที่ได้มาจากศัพท์ภาษาละตินและภาษากรีก คือ "บีบลีอา" (Biblia) ซึ่งเป็นพหูพจน์ของ "บีบลีออน" (Biblion) แต่ภาษาอังกฤษใช้ไบเบิล (Bible) และการที่เรียกว่าไบเบิลนี้ อาจเป็นเพราะคัมภีร์ไบเบิลประกอบด้วยหนังสือหลายเล่มแล้วนำมารวมเป็นเล่มเดียวกัน ในเล่มเดียวกันนี้ต่อมาแบ่งเป็นสองภาค คือ ภาคพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) ซึ่งเขียนเป็นภาษาฮิบรูเกือบทั้งหมด มีบางส่วนที่เขียนเป็นภาษาอารามาอิคและภาษากรีก ไบเบิลในภาคนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนายูดายและศาสนาคริสต์ จึงเป็นที่ยอมรับของทั้งสองศาสนานี้ว่า มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องสมบูรณ์
1. คัมภีร์เก่า ( Old Testament ) หรือพันธสัญญาเดิมเป็นบันทึกเรื่องราวก่อนพระเยซูทรงประสูติ
2. คัมภีร์ใหม่ ( New Testament ) หรือพันธสัญญาใหม่เป็นบันทึกเรื่องราวหลังจากที่พระเยซูทรงประสูติ
ในภาคพันธสัญญาเดิมคริสเตียนออร์โธด็อกซ์นี้ประกอบไปด้วยข้อเขียนต่าง ๆ ทั้งหมด 46 เล่ม (แต่ในคริสต์ศาสนาโปรเตสแตนต์หลายนิกายยอมรับเพียง 39 เล่ม) สำหรับภาคพันธสัญญาใหม่ (The new Testament) เป็นส่วนที่ยอมรับกันในหมู่ชาวคริสต์เท่านั้น ประกอบไปด้วยหนังสือหรือข้อเขียน27 เล่ม ซึ่งเป็นบันทึกประวัติและคำสอนของพระเยซูที่เรียกว่า "พระวรสาร" (The Gospels) มีจำนวน 4 เล่ม หนังสือกิจการอัครธรรมทูต 1 เล่ม จดหมายของบรรดาสาวกถึงคริสตชนในที่ต่าง ๆ 21 เล่ม และหนังสือวิวรณ์ 1 เล่ม

                                                หลักคำสอนของศาสนาคริสต์
บรรดาคำสอนทั้งหลายของพระเยซูนั้นเทศนาบนภูเขา (Sermon on the Mount) เป็นคำสอนที่จัดเป็นระบบมากที่สุด และแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ของพระเยซูที่มีพระประสงค์ปฏิรูปชีวิตมนุษย์ไปสู่หนทางที่ถูกต้อง อีกทั้งเป็นหลักจริยธรรมที่พระองค์ทรงมอบให้แก่มนุษย์ทุกคนได้ปฏิบัติเพื่อความสุขในโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งควรแก่การศึกษา โดยตัดมาบางข้อพอเป็นสังเขปและจัดเรียงหัวข้อตามที่ปรากฏอยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ โดยเรียงตามลำดับดังนี้ คือ

1. ผู้เป็นสุข หรือบรมสุข 8 ประการ
คำสอนนี้มีลักษณะส่งเสริมการให้กำลังใจแก่คนทุกคน เพื่อให้พวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาได้อย่างไม่หวั่นไหว แม้นว่าตนเองจะรู้สึกว่ามีความบกพร่องไม่ดีพอ เป็นคนมีทุกข์โศกเศร้า เป็นคนจิตอ่อนโยน เป็นคนรักความถูกต้องเที่ยงธรรม เป็นคนจิตใจบริสุทธิ์ และเป็นคนที่ถูกกลั่นแกล้งข่มเหง บุคคลเหล่านี้ย่อมได้รับอนุญาตจากพระเจ้าให้อยู่ในอาณาจักรสวรรค์ พวกเขาไม่จำเป็นต้องยินดียินร้ายต่อคำนินทาว่าร้ายของผู้อื่น และไม่ต้องหวั่นเกรงต่อการข่มเหงของผู้ข่มเหงเหล่านั้น

2. เกลือแห่งแผ่นดินโลก
คำสอนนี้ต้องการให้มนุษย์ดำรงรักษาความดีงามเหมือนเกลือรักษาความเค็ม เพราะถ้าทิ้งความดีไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากเกลือที่หมดรสเค็ม ประโยชน์ที่จะพึงมีก็หมดไม่ หาคุณค่าใดไม่ได้เลย

3. ความสว่างของโลก
คำสอนนี้เป็นการส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้ทำความดีและปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างมั่นคง ความดีที่เขาทำไว้จะมีผลต่อโลกและผู้อื่น เป็นผลให้ผู้ที่เห็นความดีนั้นสรรเสริญพระเป็นเจ้าผู้เป็นพระบิดา เปรียบเหมือนกับลูกที่ดีบิดาย่อมได้รับการยกย่อง เพราะความดีของลูก

4.พระธรรมบัญญัติใหม่(The New Testament)
คำสอนนี้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงค์ของพระเยซูที่มุ่งชี้แจงให้บุคคลทั้งหลาย ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การเผยแพร่ศาสนาที่ได้ดำเนินอยู่นั้น มิได้เป็นไปเพื่อการล้มล้างหรือยกเลิก พระบัญญัติเดิมที่ชาวยิวได้นับถือสืบกันมาหากแต่ว่าเป็นการปฏิรูปคำสอนเดิมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

5.ความโกรธ
คำสอนได้สะท้อนถึงข้อห้ามในพระธรรมบัญญัติเดิมที่ว่า อย่าฆ่าคน แต่พระเยซูได้มาขยายคำสอนนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยชี้ให้ทุกคนพึงระวังในด้านจิตใจด้วยมิใช่ระวังแต่ทางกายเพียงทางเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโกรธซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ให้ผลในทางกาย การฆ่ายากที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความโกรธ ความโกรธจึงเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ทุกคนต้องระวังอย่าให้เกิดขึ้นได้ ความในใจที่มีอยู่จะต้องปลดเปลื้องให้หมด อย่าได้ติดค้างไว้เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อทับถมมากเข้าจะมีผลทางกาย ในที่สุดทำให้เกิดการเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน

6. การล่วงประเวณี
คำสอนได้แสดงให้เห็นถึง การปฏิรูปทางความคิดแต่เดิมที่มุ่งหมายเฉพาะการล่วงประเวณีที่เกิดขึ้นทางกายแต่พระเยซูได้สอนให้ลึกซึ้งไปกว่านี้ โดยเตือนให้ทุกคนระวังการล่วงประเวณีทางใจ ซึ่งเกิดจากความพอใจในทางจิตวิญญาณ ดังนั้นถ้าร่างกายเราส่วนใดส่วนหนึ่งทำผิด ทำบาป ควรทำลายส่วนนั้นทิ้งเสีย เพราะถึงจะเสียอวัยวะไปก็ดีกว่าตัวเราจะต้องลงนรก

7. การหย่าร้าง
คำสอนนี้แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์อันยาวไกลของพระเยซูที่เห็นว่า แต่เดิมมาที่มีการอนุญาตให้บุคคลทั้งหลายหย่ากันอย่างง่าย เพียงแค่ทำหนังสือหย่ากันก็เป็นการเพียงพอแล้วนั้น เท่ากับเปิดโอกาสให้บุคคลไม่เกรงกลัวต่อบาป การแต่งงานก็จะเกิดขึ้นเพราะความพอใจแต่ขาดความรับผิดชอบและการหย่าร้างก็จะมีมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ชี้นำและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อนที่สังคมจะเต็มไปด้วยคนทำชั่วเพราะความไม่รู้จริง

8. การสบถสาบาน
คำสอนนี้ได้ทำให้เห็นว่า ให้บุคคลยึดถือสัจจะและความจริงใจอย่างมั่นคง โดยไม่จำเป็นต้องไปอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งอื่น ๆ เพื่อเป็นหลักประกันคำพูดของตนเอง คนที่มีจิตใจมั่นคงในคำสอนของศาสนาย่อมไม่กล่าวคำเท็จ และมีความเชื่อมั่นในตนเองทำทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์

9. การตอบแทน
คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูไม่ต้องการให้บุคคลทั้งหลายมีจิตใจอาฆาตแค้นต่อกัน คำสอนในตอนนี้ทำให้นึกถึงการละอัตตาในพุทธศาสนา ตราบใดที่คนเรายังมีความ ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตนอยู่ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่นและพระเจ้าได้

10. รักศัตรู
คำสอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงหลักแห่งความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งหลาย แม้แต่ศัตรูผู้ที่คิดร้าย บุคคลนั้นได้ชื่อว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์เพราะสามารถต้านทานกิเลสในจิตใจได้

11. การทำทาน
คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่า พระเยซูต้องการให้บุคคลทำดีจนเคยชินเป็นนิสัย มากกว่าที่จะทำบุญเพื่อหวังบำเหน็จรางวัล เพราะความดีที่แท้จริงคือการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ

12. การอธิษฐาน
คำสอนนี้แสดงให้เห็นว่าการสวดมนต์อธิษฐานด้วยความเคารพอย่างแท้จริงนั้น ต้องไม่อวดตัวว่าเป็นผู้เคร่งศาสนาและเป็นผู้มีศีลมีสัตย์ ผู้ปฏิบัติต่อศาสนาด้วยความเคารพอย่างจริงใจ

13. การถืออดอาหาร
คำสอนนี้ สะท้อนให้บุคคลปฏิบัติทางศาสนาด้วยความเชื่อมั่น การถืออดอาหารเป็นการปฏิบัติทางศาสนาที่ทุกคนควรเต็มใจทำ แต่ไม่ใช่จำใจทำ เพราะนั่นไม่ใช่ความดีที่แท้จริง 14. ทรัพย์สมบัติในสวรรค์ คำสอนนี้ ทำให้เกิดแนวคิดในเรื่องการทำจิตให้หมดความยึดถือในทรัพย์สมบัติ ภายนอกกาย แต่ความดียิ่งทำมากเท่าใดสวรรค์ย่อมเป็นที่ไปสำหรับบุคคลนั้น

15. ประทีปของร่างกาย
คำสอนนี้ทำให้เราคิดได้ว่าความสว่างในจิตใจนั้นเกิดจากมุมมองอันถูกต้องถ้าดวงตา สามารถหยั่งเห็นสัจธรรมของชีวิตได้ การดำเนินชีวิตย่อมเป็นไปตามปกติ

16. พระเจ้าและเงินทอง
คำสอนนี้สะท้อนแนวคิดที่ว่า คนเราไม่สามารถยึดถือเงินตราหรือพระเจ้าเป็น ที่พึ่งอาศัย โดยพร้อมกันทั้งสองอย่าง แต่จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความรักและสัตย์ซื่ออย่างหมดหัวใจ และจะต้องหมิ่นประมาทอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะนายทั้งสองนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

17. ความกระวนกระวาย
คำสอนนี้ทำให้เห็นว่า มนุษย์รักและศรัทธาในพระเจ้าก็ควรจะวางใจเชื่อ พระองค์ ให้คำนึงถึงแต่ปัจจุบันเท่านั้น และทำดีให้ถึงที่สุดของความดีนั้น

18. การกล่าวโทษผู้อื่น
คำสอนนี้ทำให้เกิดความคิดที่ว่า "บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผล อย่างนั้น" เรากล่าวโทษผู้อื่นอย่างไร และเราก็จะถูกกล่าวโทษเช่นนั้นบ้าง คนส่วนมากไม่ใคร่มอง ตนเอง แต่มักเพ่งโทษของผู้อื่น จึงมองไม่เห็นความชั่วของตนทำให้เป็นผู้ที่โลกทัศน์มืดมัวและปัญญามืดบอด

19. ขอ หา เคาะ
คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพระเจ้า ย่อมมีน้ำพระทัยเมตตาแก่ผู้ทุกข์ยากที่ร้องขอความช่วยเหลือพระเจ้าย่อมไม่ทอดทิ้ง พระองค์ดีต่อพวกเขาอย่างไร พวกเขาก็ควรที่จะดำเนินตามรอยพระองค์ ด้วยการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นปฏิบัติ เช่นนั้นต่อพวกเขา

20. ประตูคับแคบ
คำสอนนี้เป็นการเตือนสติบุคคลให้ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาทคนส่วนมากชอบความง่าย ความสะดวกสบาย จึงพลาดต่อการทำผิดทำชั่ว จิตที่ชอบความสะดวกสบาย จึงมีคนน้อยมากที่จะยอมประพฤติปฏิบัติความดีงามและยอมต้านกระแสความต้องการของโลก คนส่วนมากเลือกประตูกว้างซึ่งเป็นทางที่สะดวกกว่าประตูที่คับแคบเช่นเดียวกับคนส่วนมากเลือกที่จะทำชั่วมากกว่าที่จะทำความดีเพราะการทำดีนั้นยากลำบาก ต้องใช้ความอดทนและความพยายามอย่างสูง

21. รู้จักต้นไม้ด้วยผลของมัน
คำสอนนี้เป็นการเตือนใจบุคคลให้รู้จักเฟ้นบูชาบุคคลที่ควรบูชา ไม่ศรัทธา เพียงเพราะเห็นว่ามีท่าทีน่าเลื่อมใส แต่ให้ดูผลงานของบุคคลที่บอกถึงคุณค่าที่แท้จริงของเขา

22. เราไม่เคยรู้จักเจ้าเลย
คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่เอ่ยเรียกพระเจ้าบ่อยครั้ง ไม่ได้หมายความว่าจะได้สิทธิอยู่ในอาณาจักรสวรรค์ เพราะปากที่เคยพร่ำถึงอยู่เสมอแต่ไม่เคยปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้าก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีที่แท้จริง และเป็นคนที่พระเจ้าไม่เคยรู้จัก

23. รากฐานสองชนิด
คำสอนนี้เป็นตอนสุดท้ายที่ย้ำเตือนให้บุคคลทั้งหลาย นำคำสอนที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นไปปฏิบัติซึ่งจะเกิดผลดีแก่เขาทั้งโลกนี้และโลกหน้า อีกทั้งเป็นการเตือนสติบุคคลให้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท หลักคำสอนสำคัญอื่น ๆ

1. บาปกำเนิด คือ บาปที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด
2. ตรีเอกภาพ คือ พระเจ้าสูงสุดพระองค์เดียว แต่มี 3 สถานะ คือ พระบิดา พระบุตร และพระจิต
3. ความรัก เป็นกฎทองคำของศาสนาคริสต์ กล่าวว่า "จงรักพระเจ้าสุดใจ สุดความคิด
สุดกำลัง" และ "จงรักเพื่อนบ้านเหมือนเจ้ารักตัวเอง"
4. อาณาจักรพระเจ้า คือ สภาวะจิตใจที่บริสุทธิ์

กำเนิดและวิวัฒนาการของนิกายที่สำคัญในศาสนาคริสต์
ในรัชสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine the Great) พระองค์ได้ตั้ง ราชธานีใหม่ในภาคตะวันออก แถบประเทศตุรกีในปัจจุบัน และได้พระราชทานนามราชธานีนี้ว่า "คอนสแตนติโนเปิล" (Constantinople) หรือโรมันตะวันออกซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรไบแซนทีน (Byzantine) อาณาจักรนี้มีความอิสระแยกออกจากโรมันตะวันตก ซึ่งมีโรม (Rome) เป็นศูนย์กลาง แต่เมื่อนานวันอาณาจักรโรมันตะวันออกมีความเข้มแข็งและเป็นอิสระในทุกด้าน จึงปกครองเป็นเอกเทศรวมไปถึงการปกครองทางศาสนา มีความเป็นอิสระจากกรุงโรม ไม่ยอมรับในพระราชอำนาจของพระสันตะปาปา จึงทำให้เกิดการแตกแยกออกเป็นนิกาย กล่าวคืออาณาจักรโรมันตะวันตกนั้นได้รับอิทธิพลคำสอนของปีเตอร์ ซึ่งเข้าไปมีส่วนผสมกลมกลืนกับบทบาททางสังคมและการเมือง ส่วนอาณาจักรโรมันตะวันออกได้รับอิทธิพลทาง วัฒนธรรมของเอเชีย จากจุดนี้เองทำให้ศาสนาคริสต์ต้องแยกออกเป็น 2 นิกาย คือ
1. นิกายออร์โธดอกซ์ (Orthodox) มีศูนย์กลางอำนาจในแต่ละประเทศโดยเฉพาะ แต่อยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวกันของหลักธรรมบัญญัติแห่งคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์และให้ความสำคัญต่อประมุขนิกายซึ่งอยู่ในแต่ละประเทศต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน โดยเรียกชื่อประมุขเหมือนกันหมดว่า ปาตริอาร์ค (Patriarch) และมี อาร์คบิชอบ(Archbishop) และบิชอป (Bishop)เป็นหัวหน้าสงฆ์ปกครองสังฆมณฑลแต่ละจังหวัดตามลำดับ
- ใช้คำสอนที่มีมาแต่ดั้งเดิมของคริสต์จักรแห่พระเยซูที่เป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีการบิดเบือนใดๆ
- เป็นนิกายเดียวที่เชื่อเรื่องนักบุญ และเชื่อในชีวิตหลังความตายอันเป็นนิรันดร
- รูปเคารพ คือ ไม้กางเขนที่พระเยซูถูกตรึงอยู่ คือ ภาพ 2 มิติ
- รูปเคารพของพระเยซู พระแม่มารีย์ และเหล่านักบุญ (Icon) คือ ภาพ 2 มิติ
- การประกอบพิธีกรรมตามวันลำรึกสำคัญต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด
2. นิกายโรมันคาทอลิก (Roman Catholic) มีศูนย์กลางอำนาจอยู่พระสันตะปาปาที่สำนักวาติกัน (Vatican) กรุงโรม ใช้ภาษาละตินเป็นภาษาทางศาสนา ประมุขสูงสุดคือพระสันตะปาปา
- เน้นว่าต้องเป็นผู้สืบทอดคำสอนจากพระเยซู
- ประมุข คือ สันตะปาปา และมีพระที่เรียกว่า บาทหลวง
- เป็นนิกายที่เชื่อเรื่องนักบุญ และแดนชำระวิญญาณผู้ตาย
- รูปเคารพ คือ ไม้กางเขนที่พระเยซูถูกตรึงอยู่
ต่อมาในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้แตกแยกออกไปอีก โดยบาทหลวง ชาวเยอรมันชื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) ท่านเกิดความไม่พอใจต่อสภาพการปกครองของสำนักวาติกัน จึงทำหนังสือถึงพระสังฆราชผู้เกี่ยวข้อง แต่กลับได้รับหมายขับออกจากพระศาสนจักรในปี ค.ศ. 1521 มาร์ติน ลูเธอร์ จึงแยกตนเองออกมาตั้งนิกายใหม่ คือ โปรเตสแตนต์ (Protestant)
3. นิกายโปรเตสแตนท์ เช่น ลัทธิลูเธอร์น และแอกลิแคน
- ไม่พอใจการกระทำคำสอนบางประการของสันตะปาปา
- เน้นคัมภีร์ ไม่มีนักบวช
- รับศีลศักดิ์สิทธิ์เพียง 2 ศีล คือ ศีลล้างบาป และศีลมหาสนิท





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น