วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ศาสนาโซโรอัสเตอร์

ศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism)


      ศาสนาโซโรอัสเตอร์เกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน ในราว 600 หรือ 700 ปีก่อนค.ศ. มีความเชื่อแบบทวินิยม คือ อาหุรามัสดา เทพเจ้าแห่งแสงสว่างกับอังคระไมนยุ พญามารฝ่ายชั่วร้าย ศาสนานี้บูชาไฟในฐานะเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง หมายถึง ไฟผู้ให้กำเนิดแสงสว่างย่อมเผาผลาญสิ่งสกปรกให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ เปรียบเสมือนพระเจ้าประทับอยู่ที่ใด ที่นั่นย่อมมีแต่ความบริสุทธิ์ เชื่อว่าพระเจ้าแจ้งเรื่องราวต่างๆผ่านทาง "โซโรอัสเตอร์" ผู้เป็นศาสดาเท่านั้น
มีคัมภีร์อเวสตะ (ความรู้หรือความสงบ) เป็นคัมภีร์ศาสนา มี 5 หมวด หรือ 5 เล่ม เป็นคู่มือสำหรับใช้สวดมนต์ประจำวัน มีหลักคำสอน เชื่อเรื่องบุญ บาป นรกและสวรรค์ ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ถือธรรมเนียมมีสามี-ภรรยาคนเดียว ไม่ยอมรับลัทธิพราหมณ์ เมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะต้องเดินข้ามสะพานแคบเหมือนนรก คนดีย่อมข้ามพ้นโดยปลอดภัยไปสู่อาณาจักรแสงสว่างของพระอาหุระมัสดะ ถ้าเป็นคนบาปจะถูกผลักตกลงจากสะพานลงสู่นรก เมื่อถึงวันพิพากษาจะมีผู้มาโปรด นามว่า สโยชันต์ มาชุบชีวิตทั้งหมด วิญญาณจะถูกนำไปฟังคำพิพากษาต่อหน้าเทพเจ้ามธรา ต้องผ่านทดสอบอีกหลายขั้นตอนจากเทพเจ้าสราโอษา และเทพเจ้ารัษนุ คนทำชั่วจะถูกลงโทษ คนทำดีจะได้ขึ้นไปอยู่บนดวงดาว ดวงจันทร์ และชั้นสูงสุดคือดวงอาทิตย์เพื่อไปอยู่กับอาหุรามัสดาในสวรรค์ชั่วนิรันดร์

ประวัติความเป็นมา

ประชาชนชาวอิหร่านและชาวอินเดีย มีบรรพบุรุษร่วมกันมาในอดีต สืบเชื้อสายมาจากชาวอารยัน ศาสนาของชาวอารยันมีพื้นฐานมาจากคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวอิหร่านและของอินเดีย คือคัมภีร์อเวสตะ (Avesta) ของอิหร่าน และคัมภีร์พระเวทของอินเดีย มีเทพเจ้าองค์เดียวกันอยู่ในคัมภีร์อเวสตะของอิหร่านและคัมภีร์พระเวทของอินเดีย เช่น เทพเจ้ามิตรา ของอินเดียและของอิหร่านเรียกว่า ทพเจ้ามิธรา และพิธีบูชาไฟสังเวยพระเจ้าด้วยเหล้าศักดิ์สิทธิ์ในอินเดีย เรียกว่า โสม ในอิหร่านเรียกว่า โหม ชาวอารยันในอิหร่านได้แบ่งพระเจ้าของตนออกเป็น เทวะ เป็นคำในภาษาอินโด-อารยัน เช่นเดียวกับคำว่า ดีอุส ซึ่งหมายถึง ทางสวรรค์ และอสูร ซึ่งหมายถึงเทพมีอำนาจเร้นลับ

ศาสดา

โซโรอัสเตอร์ เกิดเมื่อ 628 ปี ก่อนค.ศ.เกิดในตระกูลของขุนนาง ในเมืองมีเดีย เป็นเมืองที่ไม่สำคัญและใหญ่โตนัก เศรษฐจิจในบริเวณเมืองนี้ขึ้นอยู่กับการทำปศุสัตว์ มีพวกนักร่อนเร่เลี้ยงสัตว์บุกรุกเข้ามาโจมตีประชากรที่ตั้งหลักแหล่งเลี้ยงสัตว์ในบริเาณนั้นเป็นประจำ ด้วยเหตุนี้โซโรอัสเตอร์จึงถือว่าคนพวกนี้เป็นผู้รุกราน ทำผิดกฎระเบียบ และเรียกคนพวกนี้ว่า สาวกแห่งการโกหกมดเท็จ
โดยลักษณะของโซโรอัสเตอร์แล้วเชื่อกันว่าเขาเป็นพระนักบวช ผู้ได้รับโองการจากพระอหุระมาซดะ เทพเจ้าผู้ชาญฉลาด แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้สอนสัจจะ ปรากฏว่า คำสอนของโซโรอัสเตอร์ได้รับการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนและฝ่ายศาสนาของรัฐในบริเวณที่โซโรอัสเตอร์เข้าไปสั่งสอนศาสนาเมื่อโซโรอัสเตอร์เข้าใจว่าพระเจ้าอหุระมาซดะทรงบัญญัติสัจจะให้แต่โซโรอัสเตอร์ไม่ได้ทำลายความเชื่อในศาสนาเดิมของอิหร่าน ซึ่งเป็นศาสนานับถือพระเจ้าหลายองค์ อย่างไรก็ดี โซโรอัสเตอร์ให้เทพเจ้าอหุระมาซดะอยู่ที่ศูนย์กลางของราชอาณาจักรแห่งความยุติธรรมซึ่งมีสภาพเป็นอมตแม้โศโรอัสเตอร์จะปฏิรูปศาสนาเก่าแก่ของอิหร่านในปัญหาทางสังคม และเศรษฐกิจที่มีอยู่ในขณะนั้น คำสอนของโซโรอัสเตอร์ในตอนแรกได้รับการคัดค้านโต้แย้งจากฝ่ายที่โซโรอัสเตอร์เรียกว่าสาวกแห่งการโกหกมดเท็จ
โซโรอัสเตอร์ให้เทพเจ้าอหุระมาซดะ เป็นเทพเจ้าสูงสุด ห้ามทำการพลีกรรม เช่น สังเวยให้กับอหริมัน และเทวะ ซึ่งในสมัยก่อน ศาสนาโซโรอัสเตอร์ถือว่าเทพเจ้าเหล่านี้เป็นฝ่ายมีอำนาจชั่วช้า โซโรอัสเตอร์อาจพบว่า การปฏิบัติพลีกรรมด้วยวัว และเหล้าศักดิ์สิทธิ์ จะทำให้เกิดการเมามายมากเกินไป ในการปฏิรูปในเรื่องนี้ โซโรอัสเตอร์มิได้ห้ามการเซ่นสังเวยพระเจ้าด้วยวิธีฆ่าสัตว์ เพียงแต่ห้ามมิให้เกิดความเมามายและความเจ็บไข้เพราะการทำพิธีกรรมเช่นนั้นโซโรอัสเตอร์ยังคงใช้ระบบการบูชาไฟไว้อย่างเดิม ซึ่งพิธีกรรมบูชาไปในเวลาต่อมา เป็นหน้าที่ของพระมากี เปลวไฟนิรันดรแห่งวิหารเปลงไฟเป็นหน้าที่ของพระต้องรักษาไว้มิให้ดับ และมีการบูชาไฟด้วยเหล้าศักดิ์สิทธิ์
ภายหลังที่โซโรอัสเตอร์ได้สอนให้กษัตริย์วิษทะสปะหันมานับถือศาสนาของตนแล้วโซโรอัสเตอร์ยังคงอยู่ในราชสำนักของกษัตริย์พระองค์นั้น และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในราชสำนักต้องหันมานับถือโซโรอัสเตอร์ตามพระองค์ โซโรอัสเตอร์มีอายุ 77 ปี ถึงแก่กรรมก่อน 551 ปีก่อน ค.ศ. สาเหตุแห่งการถึงแก่กรรมของโซโรอัสเตอร์ค่อนข้างจะสับสน ในตำราทางศาสนาหลายเล่มค่อนข้างจะไม่ตรงกัน แต่เชื่อกันว่าโซโรอัสเตอร์เสียชีวิตขณะคุกเข่าอ้อนวอนพระเจ้าในโบสถ์เพื่อขอชัยชนะจงเป็นของประชาชนของตน ขณะเกิดสงครามกับพวกตุราเนียน ทหารตุราเนียนคนหนึ่งย่องเข้าไปข้างหลังแล้วแทงโซโรอัสเตอร์ถึงแก่ชีวิต

คัมภีร์

อเวสตะ(Avesta) เป็นคัมภีร์ศาสนาโซโรอัสเตอร์แปลว่า ความรู้ แบ่งออกเป็น 5 หมวด หรือ คัมภีร์ 5 เล่ม ก็เรียก
1. ยัสนะ เป็นหมวดแรกที่มีความเก่าแก่และสำคัญมากที่สุด ประกอบด้วยคาถา 17 คาถา เขียนโดยโซโรอัสเตอร์ เป็นเรื่องการบูชาไฟและเทพเจ้าอาหุรามัสตา
2. วิสเปรัท เป็นหมวดว่าด้วยบทสวดบวงสรวงและอ้อนวอนเทพเจ้าต่างๆ
3.เวนทิทัท เป็นหมวดว่าด้วยเรื่องโลกและจักรวาล การทำสงครามระหว่างเทพเจ้าแห่งความมืด อหริมัน กับเทพเจ้าแสงสว่าง อาหุรามัสดา การตกนรกและการขึ้นสวรรค์ รวมทั้งระเบียบพิธีกรรมของนักบวชและประวัติศาสตร์ของโลกและวิญญาณ
4. ยัษฎส เป็นหมวดที่ว่าบทกวีสำหรับสวดบูชาและสรรเสริญทูตสวรรค์ จำนวน 21 องค์ และวีรบุรุษแห่งศาสนาโซโรอัสเตอร์
5. โขรท - อเวสตะ เป็นหมวดที่ว่าด้วยข้อความย่อคัมภีร์อเวสตะใช้เป็นคู่มือสำหรับศาสนิกโซโรอัสเตอร์ใช้สวดมนต์ประจำวัน
คัมภีร์อเวสตะ แปลว่า ความสงบหรือถ่ายโทษด้วยการบูชา เดิมจารึกไว้บนหนังโคพับแผ่นบ้าง จารึกไว้บนเขาโค จำนวน1,200 เขา

หลักธรรม

หลักคำสอนของศาสนาโซโรอัสเตอร์ มีเรื่องสำคัญอยู่ที่การดำรงไว้ซึ่งชีวิตและการต่อสู้กับสิ่งชั่วร้าย ในการดำรงรักษาชีวิตไว้ คนเราจะต้องเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์และทำการเกษตรกรรม
ชีวิตภายหลังความตายถูกกำหนดขึ้นจากความสมดุล ระหว่างความดีกับความชั่วที่ผู้นั้นได้กระทำขณะมีชีวิตอยู่ รวมทั้งการใช้วาจาและความคิด มีวิธีการอยู่ 2 อย่างในการลบล้างความชั่วนั้น คือ การสารภาพบาป และไม่กลับมาทำอีก

ในคัมภีร์อเวสตะ กล่าวถึงหน้าที่ของมนุษย์ มี 3 ประการ ต่อไปนี้

1. ทำศัตรูให้เป็นมิตร
2. ทำคนชั่วให้เป็นคนดี
3. ทำคนโง่ให้เป็นคนฉลาด

นิกาย

นิกายของศาสนาโซโรอัสเตอร์มี 2 นิกาย คือ ชหันชหิส กับ กัทมิส แต่ความหมายและคำอธิบายของสองนิกายนี้ยังไม่แจ่มชัด แต่เท่าที่พิจารณาศัพท์ดูแล้ว ชื่อของนิกายทั้งสองนี้ใกล้กับชื่อคัมภีร์ที่เกิดขึ้นใหม่ ในสมัยต้นศตวรรษที่ 3 ได้มีการแปลคัมภีร์ของศาสนานี้เป็นภาษาปาลวี ซึ่งใช้ในเปอร์เซียสมัยนั้น คัมภีร์เมนอกิ ขรัท ว่าด้วยการที่พระเจ้าแจ้งเรื่องราวต่างๆลงมาทางศาสดาพยากรณ์ คือโซโรอัสเตอร์ นิกายกัทมิส น่าจะถือคัมภีร์นี้เป็นสำคัญ ส่วนอีกคัมภีร์หนึ่ง คือ ชะยิต -เน - ชะยิต ว่าด้วยพิธีกรรมต่างๆซึ่งนิกายชหันชหิส คงยึดมั่ยในคัมภีร์หลังนี้ นอกจากนี้ก็ยังไม่มีทางสันนิษฐานเป็นอย่างอื่น

พิธีกรรม

ในศาสนาโซโรอัสเตอร์มีพิธีกรรมสำคัญ คือ
1. พิธีปฏิญาณตนเข้านับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ เมื่ออายุครบ 7 ปี กับ 10 ปี และจะได้รับเสื้อและกฤชซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับกายตลอดชีวิต
2. พิธีกรรมบริสุทธิ์ คือ การทำให้บริสุทธิ์ 3 แบบ คือ
- พัทยับ ( Padyab ) การชำระล้าง
- นาหัน ( Nahan ) การอาบ
- บารีสนัม ( Baresnum ) เป็นพิธีกรรมที่กระทำในโอกาสและสถานที่พิเศษ


สัญลักษณ์




ศาสนาโซโรอัสเตอร์นิยมใช้รูปศาสดาโซโรอัสเตอร์และคบไฟในกระถางเป็นสัญลักษณ์ เพราะศาสดาโซโรอัสเตอร์บูชาไฟในฐานะเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง ความเชื่อดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยโบราณของชาวเปอร์เซียนั้นเชื่อว่า โซโรอัสเตอร์ คือ ผู้มาไถ่บาปเหมือนแสงสว่างในวันใหม่ เชื่อกันว่า โซโรอัสเตอร์คือวิญญาณที่เทพเจ้าอาหุรมัสดาส่งลงมาแทนพระองค์ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ผู้มีความทุกข์ ให้มากำเนิดที่เมืองมิเดีย ในเปอร์เซีย สถานที่ที่ประสูติของพระองค์เป็นถ้ำหรือคูหา ประสูติในวัน เหมายัน (winter solstice)ตรงกับ วันที่ 22-25 ธันวาคม โดยมีมนุษย์หญิงพรหมจารีเป็นผู้ให้กำเนิดภายหลังผู้คนพากันยกย่องให้เป็นเทพธิดาแห่งความอุดมสมบูรณ์
พวก ปารซี ที่นับถือลัทธิบูชาไฟนี้ ยกย่องสุริยเทพว่า ทรงมีมหิทธานุภาพสูงสุด ต่อมาในช่วงหลังจึงเป็นเทพเจ้าถือกริชและคบเพลิง มีวัวกระทิงพาดไว้บนบ่า แสดงถึงแสงสว่างแห่งพระเจ้า ผู้ควบคุมจักรวาลตั้งแต่วันประสูติ

ตำนานเล่าว่า เทพเจ้าฆ่าวัวกระทิงตามคำบัญชาของสุริยเทพ โลหิตของพระองค์ถูกสายลมพัดพาและกระเซ็นลงบนพื้นดินกลายเป็นต้นข้าวทั่วไปหมดเป็นที่มาของประเพณีๆหนึ่ง ส่วนโลหิตของวัวเปรียบเสมือนทางช้างเผือก เส้นทางแห่งจิตวิญญาณและกำเนิดใหม่ โซโรอัสเตอร์เทพเจ้าผู้กำหนดฤดูกาลและความเป็นไปของสวรรค์
ชาวยิวเมื่อครั้งที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยในบาบิโลนก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนานี้ด้วยเช่นกัน ถ้าติดตามพัฒนาการของศาสนายิวมาตลอดจะเห็นอิทธิพลของความเชื่อของศาสนาโซโรอัสเตอร์เริ่มปรากฏขึ้นในช่วงนี้นี่เอง
ศาสนาโซโรอัสเตอร์แพร่หลายเข้าไปจนถึงกรีกและเอเซียไมเนอร์ และเริ่มแพร่หลายในโรมันครั้งแรกในราว 204ปีก่อนค.ศ. หรือที่รู้จักกันในนาม "ศาสนามิถรา" นั่นเอง ศาสนาโซโรอัสเตอร์นี้ปัจจุบันยังมีคนนับถืออยู่บ้างในอิหร่าน และพวกโซโรอัสเตอร์ที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่นต่างก็ช่วยกันเผยแผ่ศาสนา เช่นใน รัฐโอเรกอน ชิคาโก บอสตัน ลอสแองเจอลิส สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ

ศาสนาของชาวเปอร์เซีย

ศาสนาดั้งเดิมของชาวเปอร์เซียเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์และกสิกรรมแบบเรียบง่าย แต่ต่อมาก็มีศาสนาใหม่ ศาสนาโซโรแอสเตอร์เกิดขึ้น ศาสนานี้พัฒนาขึ้นผลงานของชายผู้หนึ่งชื่อว่า ซาราธุสตรา (Zarathustra) หัวใจของศาสนาโซโรแอสเตอร์อยู่ที่หนังสือศักดิ์สิทธิ์หรือพระคัมภีร์ เช่นเดียวกันกับศานายูดาย อิสลาม คริสต์ศาสนาและศาสนาของชาวตะวันออกอีกหลายศาสนา หนังสือศักดิ์สิทธิ์เล่มนี้เรียกว่า พระคัมภีร์อาเวสตา (Avesta) ศาสนาโซโรแอสเตอร์มีลักษณะเป็นลัทธิทวินิยม สานุศิษย์ของศาสนานี้เชื่อในอำนาจสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งดีฝ่ายหนึ่งชั่ว พวกเขาเชื่อว่าเทพเจ้าแห่งความดีเป็นเทพผู้สูงสุด ชื่อออร์มาซด์ (Ormazd) เทพองค์นี้มีพวกอัครเทวทูตและเทวทูตทั้งหลายเป็นบริวาร และเชื่อว่ามีเทพแห่งความชั่วองค์หนึ่งชื่อ อาห์ริมาน (Ahriman) มีภูตผีปีศาจเป็นบริวาร ศาสนาโซโรแอสเตอร์สอนว่า มนุษย์ควรจะปรนนิบัติรับใช้เทพแห่งความดี และทำตามประมวลกฎหมายอันสูงส่งซึ่งแสดงออกมาเป็นค่านิยมทางศีลธรรมแบบถ่อมตัว ศิษยานุศิษย์ของศาสนานนี้มีความเชื่อมั่นว่า ความตายไม่ใช่การสิ้นสุดคนชอบธรรมจะได้รับชีวิตใหม่เมื่อตอนที่เทพออร์มาซด์ทำสงครามชนะ


ศาสนาเชน

ศาสนาเชน
รูปปั้นพระมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชน

       ศาสนาเชนเป็นศาสนาหนึ่งที่มีแหล่งกำเนิดในเอเชียใต้  คือ  อินเดีย  และยังคงเป็นศาสนาสำคัญ ศาสนาหนึ่งในอินเดียในปัจจุบัน  มีผู้นับถือกระจัดกระจายอยู่ในทุกรัฐของอินเดีย  ประมาณมากกว่า 2 ล้านคน
     
       ศาสนาเชนเกิดก่อนพุทธศาสนาเล็กน้อย  เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปศาสนาพราหมณ์ หรือ ฮินดูในด้าน คำสอน ความเชื่อถือ และศาสนาพิธี  ตลอดทั้งปฏิเสธเรื่องพระเจ้า  เป็นศาสนาอเทวนิยม ศาสนาเชนสอนเน้นหนักในการบำเพ็ญทุกรกิริยา

       คำว่า “เชน”  บางทีออกเสียงว่า  ไชน์  หรือ  ไยน์  มาจากคำว่า “ชินะ”  แปลว่า “ผู้ชนะ”   เพราะฉะนั้น  ศาสนาเชนจึงหมายความว่าศาสนาแห่งผู้ชนะ ( ชนะตนเอง )
   มหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนมีนามเดิมว่า  วรรธมานะ  แปลว่า  ผู้เจริญ  ประสูติ ณ นครเวสารี แคว้นวัชชี ในภาคเหนือ ของอินเดีย  ในราว 635 ปีก่อนคริสต์ศักราช
             
        ในวันประสูติของเจ้าชายวรรธมานะ ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชที่นครเวสารีอย่างใหญ่โต มโหฬาร  พระเจ้ากรุงเวสาลีทรงบำเพ็ญทานโปรดให้แจกจ่ายสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคแก่คนยากไร้อนาถา และให้ประกาศนิรโทษแก่นักโทษที่ถูกจองจำ  ยิ่งกว่านั้นบรรดา นักพรตและเหล่า พราหมจารย์ ต่างก็ได้พยากรณ์ ว่า เจ้าชายจะทรงเป็นผู้มีอนาคตที่ยิ่งใหญ่ โดยมีคติเป็น 2 คือ
                1. ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิ
                2. ถ้าทรงออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก
             
ศาสดาของศาสนาเชน


          เมื่อพระชนมายุได้ 30 พรรษา มหาวีระ ก็ได้ตัดสินพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวออกจากกรุงเวสารีไป  พร้อมอธิษฐานจิตว่า  “ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปเป็นเวลา 12 ปี จะไม่ยอมพูดจาอะไรกับใครแม้แต่คำเดียว” เมื่อเวลาถือปฏิญาณครบ 12 ปี พระมหาวีระก็ทรงคิดและมั่นพระทัยว่าพระองค์ทรงพบคำตอบ ต่อปัญหาชีวิตครบถ้วนแล้ว จึงเสด็จออกไปเพื่อเผยแพร่ความคิดคำสอนใหม่ของพระองค์ ทรงตั้งศาสนาใหม่เรียกว่า ศาสนาเชน ศาสนาของผู้ชนะตนเอง
             
          พระมหาวีระผู้ชนะได้ใช้เวลาในการสั่งสอนสาวก และประสบผลสำเร็จตลอดมาเป็นเวลา 30 ปีเศษ เมื่อพระชนมายุได้ 72 ปี ทรงประชวรหนัก ทรงทราบว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง จึงเรียกประชุมบรรดาสาวกทั้งหลาย และสั่งสอนเป็นโอกาสสุดท้ายพระมหาวีระดับขันธ์ในเช้าวันต่อมา สรีระของพระมหาวีระได้กระทำการฌาปนกิจที่เมืองปาวา จึงเป็นสังเวชนียสถาน ที่ควรไปดูไปทำสักการะ
คัมภีร์องศาสนาเชน
คัมภีร์ของศาสนาเชนชื่อ อาคมะ ตามหลักฐานปรากฏว่าได้จารึกเป็นอักษรปรากฤตประมาณ 200ปี
 ภายหลังสมัยของพระมหาวีระ ส่วนคำอธิบายคัมภีร์ และวรรณคดีของเชนในสมัยต่อมา ล้วนเป็น
 ภาษาสันสกฤต

หลักคำสอนสำคัญบางประการของศาสนาเชน

อนุพรต
อนุพรต คือ ข้อปฏิบัติพื้นฐาน  มี 5 ประการที่สอนให้งดเว้นสิ่งที่ไม่ดี คือ
1. อหิงสา  การไม่เบียดเบียนให้คนอื่น สัตว์อื่น สิ่งอื่น
2. สัตยะ    การไม่พูดเท็จ
3. อัสตียะ  การไม่ลักขโมย
4. พรหมจริยะ  เว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย
5. อัปริคคหะ  ความไม่โลภ

มหาพรต

ข้อปฏิบัติสำคัญและยิ่งใหญ่

1. สัมยัคทรรศนะ  ความเชื่อที่ถูกต้อง
2. สัมยัคญาณะ  ความรู้ที่ถูกต้อง
3. สัมยัคยาริตะ  ความประพฤติที่ถูกต้อง

พิธีกรรมของศาสนาเชน

      การบวชเป็นบรรพชิต  เป็นการเปลี่ยนแปลงภาวะของคนธรรมดาสู่ความเป็นนักพรต ครองผ้า 3 ผืน ต้องโกนผมด้วยวิธี ถอนผมตนเอง ฉันอาหารเท่าที่แสวงหามาได้การถืออัตตกิลมถานุโยค  ศาสนาเชนถือว่าการทรมานตนให้ได้รับการลำบากต่างๆ เช่นการอดอาหาร การไม่พูดจากับใครจะสามารถทำให้บรรลุโมกษะ

จุดหมายปลายทางสูงสุดของศาสนาเชน

       ศาสนาเชนมีจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต อันเป็นความสุขที่แท้จริงและนิรันดร คือ นิรวารณะ หรือโมกษะ (ความหลุดพ้น)
       ผู้หลุดพันจากเครื่องผูก คือ กรรม ได้ชื่อว่า สิทธะ หรือ ผู้สำเร็จ เป็นผู้ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่รู้สึกกระทบกระเทือนต่อกลิ่น ปราศจากความรู้สึกเรื่องรส ไม่มีความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา ไม่มีความหิว ความเจ็บปวด ความเสียใจ ความดีใจ ไม่เกิด แก่ ตาย ไม่มีรูป ไม่มีร่างกาย ไม่มีกรรม เสวยความสงบอันหาที่สุดมิได้ วิธีที่จะบรรลุจุดหมายปลายทางนั้นจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานที่เรียกว่า อนุพรต 5 จนถึงอย่างสูงที่เป็นข้อปฏิบัติอันยิ่งใหญ่และสำคัญคือ มหาพรต 3

นิกายสำคัญของศาสนาเชน

ศาสนาเชนมีนิกายที่สำคัญอยู่ 2 นิกาย
1. นิกายเศวตัมพร  นิกายนุ่งผ้าขาว  ถือว่าสีขางเป็นสีบริสุทธิ์
2. นิกายทิคัมพร     นิกายนุ่งลมห่มฟ้า ( เปลือยกาย)



สัญลักษณ์ของศาสนาเชน




สัญลักษณ์โดยตรงของศาสนาเชนก็คือ รูปปฏิมาของศาสดามหาวีระ ซึ่งในโบสถ์หรือในวัดเชนทั่ว ๆ ไปจะมีรูปปฏิมาของศาสดาประดิษฐานอยู่ หรือภายในบ้านของศาสนิกชนเชนก็มีรูปปฏิมาโลหะไว้บูชาเช่นเดียวกับชาวพุทธมีพระพุทธรูปไว้บูชาทั้งในบ้าน ในวัด โรงเรียน และในโบสถ์ รูปปฏิมาของศาสดามหาวีระที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ ที่ประดิษฐานที่เมืองโลหะนิปุระ ใกล้ ๆ กับเมืองพิหาร หล่อขึ้นมาในสมัยราชวงศ์เมารยะ และได้ขุดค้นพบที่เมืองกันกาลิทิลา แคว้นมธุระ มากมาย รูปปฏิมาในยุคแรก ๆ ทุกองค์ไม่สวมเสื้อผ้า รูปปฏิมาอีกรูปที่หล่อด้วยทองสำริดอายุเก่าแก่ที่สุด พบได้ในพิพิธภัณฑ์ปรินซ์ออฟเวลล์

วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ศาสนาขงจื้อ

ศาสนาขงจื้อ



จุดเด่นและความเป็นมาโดยสังเขปของศาสนาขงจื๊อ

ศาสนาขงจื้อ(Confucianism) เป็นศาสนาหนึ่งที่มีแหล่งกำเนิดในผืนแผ่นดินใหญ่จีน อันเป็นดินแดนเอเชียตะวันออก(East Asia) เป็นศาสนาในสายมองโกล มีชื่อตามชื่อของศาสดา เพราะศาสดาชื่อว่า ขงจื๊อ(Kung Tze) เดิมทีเดียวตั้งแต่สมัยขงจื๊อยังมีชีวิตอยู่มิได้ถือว่าคำสอนต่างๆของขงจื๊อเป็นศาสนา แต่เมื่อขงจื๊อสิ้นชีวิตแล้ว ศิษยานุศิษย์และผู้ศรัทธาในคำสอน ได้พากันยกย่องสรรเสริญ ประกอบกับทั้งทางราชการก็ได้ประกาศให้มีการบูชาขงจื๊อ จึงได้กลายเป็นศาสนามีคนยอมรับนับถือเป็นศาสนิกชนมากมาย จนปัจจุบันมีผู้นับถือไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน ประมาณร้อยละ 90 อยู่ในผืนแผ่นดินใหญ่จีน นอกนั้นกระจัดกระจายอยู่ในญี่ปุ่น ประเทศในเอเชียอื่นๆบ้าง หรือแม้แต่ในยุโรปและอเมริกา แต่โดยเฉลี่ยแล้วจำนวนน้อยมากในแต่ละแห่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้นับถือขงจื๊อส่วนมากนับถือเต๋าและพุทธ หรือชินโตด้วย

ศาสนาขงจื๊อจะมีคำสอนที่เน้นมากในเรื่องความมั่นคงของสังคม และการปกครอง รวมทั้งประเพณีที่ดีงาม จะเห็นได้จากหลักคำสอนต่างๆทางด้านจริยศาสตร์หรือศีลธรรม เพื่อให้คนได้ประพฤติดีปฏิบัติตาม อันจะยังผลให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข และคำสอนต่างๆอันเป็นหลักรัฐศาสตร์ เพื่อให้ผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครองได้สำนึกในหน้าที่ของตน แล้วปฏิบัติให้เหมาะสมแก่หน้าที่นั้นๆ เพราะสังคมจะดีได้จะต้องมีผู้นำและผู้ตามที่ดี ส่วนประเพณีที่ดีงามต่างๆ นั้นเป็นสื่อในการสร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม และยังเป็นการแสดงเอกลักษณ์และความเป็นอารยะของเผ่าพันธุ์ชนชาติ ตลอดทั้งกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย


ศาสดาของศาสนาขงจื๊อ

เช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆดังที่กล่าวมาแล้ว ศาสนาขงจ๊อก็มีผู้ก่อกำเนิดในฐานะศาสดา นั่นก็คือ ขงจื๊อ ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Confucius อันเป็นภาษาละติน อ่านว่า คอนฟูซิอุส ตรงกับคำว่า กุงฟูจื่อ ในภาษาจีนกลาง และขงฮูจื้อ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า ขง เป็นชื่อสกุล คือ ตระกูลขง ส่วนคำว่า จื๊อ แปลว่า ครู อาจารย์ หรือนักปราชญ์ เมื่อรวมกันเข้าก็คงแปลได้ความว่า ตระกูลครูอาจารย์ หรือตระกูลนักปราชญ์


ชาติกำเนิดและปฐมวัย

ขงจื๊อเกิดเมื่อประมาณ 551 ปีก่อน ค.ศ. หรือ 8 ปีก่อน พ.ศ. ในตระกูลชง(แช่ขง) เป็นตระกูลทหารยากจนในแคว้นลู้ ปัจจุบันคือจังหวัดฉุ่ฝูในมณฑลชานตุง ทางภาคเหนือของประเทศจีน บิดาเป็นทหารชื่อ จูงเหลียงโห หรือซกเหลียงยิด เป็นคนมีกำลังแข็งแรงเกินคนธรรมดา มารดาชื่อจินไจ ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อขงจื๊อเกิด จูเหลียงโฮผู้บิดามีอายุ 70 ปี และมารดาก็คลอดขงจื๊อในถ้ำภูเขาแห่งหนึ่ง การที่บิดาขงจื๊อต้องมีอายุแก่มากเช่นนั้น กล่าวกันว่าจูเหลียงโฮได้แต่งงานไม่มีบุตรชายมีแต่บุตรหญิง มีบุตรชายคนหนึ่งก็เป็นลูกเมียลับ และเป็นเด็กพิการอีกด้วย จึงไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้เกิดกับเมียแต่งงานกัน ประเพณีถือว่าจะต้องมีบุตรชายที่เกิดกับเมียที่แต่งงานเท่านั้น เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณของพ่อ เมื่อพ่อตายไปแล้วดวงวิญญาณจึงจะได้รับความผาสุก ดังนั้นการที่ไม่มีบุตรชายที่เกิดจากเมียที่แต่งงานกันทำการเซ่นสรวงบูชาดวงวิญญาณนั้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลและกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา จึงทำให้จูเหลียงโฮขบคิดว่าจะต้องมีบุตรชายให้ได้ เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณของตน จูเหลียงโหจึงตัดสินใจแต่งงานอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุได้ 70 ปี กับหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น และเมื่อแต่งงานใหม่ก็ได้บุตรชายสมความตั้งใจ คือ ขงจื๊อ พอขงจื๊ออายุได้ 3 ขวบ ก็เหมือนกับคนมีกรรมที่ต้องกำพร้าพ่อ เพราะพ่อตายเมื่อขงจื๊ออายุได้ 3 ขวบเท่านั้น มารดาผู้เป็นแม่หม้ายสาวซึ่งมีอายุ 17 ปี ก็ได้พยายามต่อสู้ความยากจนเลี้ยงดูบุตรของตนให้เติบใหญ่ด้วยความเหนื่อยยาก จนกระทั่งขงจื๊อพอจะช่วยตนเองและช่วยแม่ทำมาหาเลี้ยงชีพ ขงจื๊อต้องทำงานหนัก ต้องเลี้ยงมารดาตอบแทนบุญคุณ มีนิสัยใฝ่การศึกษา แต่กว่าจะได้เริ่มเรียนวิชาความรู้อย่างจริงจังก็เมื่ออายุ 15 ปี เรียนหนังสืออยู่ 3 ปี และเมื่ออายุ 18 ปีก็ได้เข้าทำงานในกรมฉางหลวงของแคว้นลู้ เฝ้าสัตว์เลี้ยงของหลวง เนื่องจากขงจื๊อเป็นคนฉลาดขยันขันแข็งซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ทำให้ผู้ใหญ่ชอบ เข้าผู้ใหญ่ได้ทุกชั้น จึงได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ แม้แต่เจ้าแคว้นลู้เองก็โปรดปราน ทำให้ขงจื๊อก้าวหน้าในหน้าที่การงาน


ชีวิตสมรส

เมื่อขงจื๊ออายุได้ 19 ปี ก็ได้ตกลงปลงใจแต่งงานกับหญิงตระกูลดีคนหนึ่ง ในวันแต่งงานขงจื๊อได้รับเกียรติอย่างสูงจากเจ้าแคว้นลู้ ที่ส่งปลาสองตัวมาให้เป็นของขวัญ ขงจื๊อจึงถือเป็นศุภนิมิตว่า ถ้ามีลูกจะตั้งชื่อว่าโปยู้ แปลว่า ปลางาม และก็ได้เป็นจริงดังตั้งใจ กล่าวคือ เมื่อแต่งงานไม่นานก็ได้บุตรชายคนหนึ่ง และได้ตั้งชื่อให้ว่าโปยู้สมปรารถนา แต่เป็นคราวเคราะห์ร้ายของขงจื๊ออีกเหมือนกัน เพราะต่อไปนี้ขงจื๊อจะต้องเป็นกำพร้าขาดทั้งพ่อขาดทั้งแม่ ปรากฏว่าใกล้ๆเวลาที่ได้แต่งงานนั้นมารดาของขงจื๊อก็ถึงแก่กรรมลง เมื่อขงจื๊อแต่งงานแล้วก็ทิ้งบ้านเดิมของตน พาภรรยาไปปลูกกระท่อมหลังเล็กอยู่ติดกับที่ฝังศพมารดา ขงจื๊ออยู่ที่นั่น 3 ปี ต่อมาชีวิตสมรสก็ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไรนัก เพราะขงจื๊อมีความรู้สึกโน้มน้าวไปในทางธรรมมาก มุ่งงานศึกษามาก ชอบคิดและคิดด้วยตนเองมาก ขงจื๊อค่อนข้างเป็นคนเคราะห์ร้ายเรื่องครอบครัว เพราะลูกไม่ได้เป็นปราชญ์ตามเชื้อสายพ่อ และไม่ค่อยปรากฏเรื่องของลูกและภรรยาในชีวประวัติ


ชีวิตมัชฌิมวัย

ตั้งแต่ขงจื๊อได้เข้ารับราชการตั้งแต่อายุ 18 และก็ได้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมาตามลำดับ จนได้รับความไว้วางใจจากเจ้าแคว้นลู้แต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฉางหลวง(ธนาคารข้าว) มีหน้าที่ตรวจเก็บภาษีข้าวเปลือกที่ชาวนาจะนำขึ้นฉางหลวงของเจ้าเมืองลู้ ระหว่างรับราชการอยู่ปรากฏว่าเป็นคนรอบรู้ในจารีตประเพณีกว่าผู้ใด ผู้ใดจะประกอบพิธีอันใดขงจื้อเป็นผู้ทำให้ทั้งหมด ที่สุดจึงกลายเป็นพิธีกร เป็นอาจารย์ของคนทั้งหลายโดยปริยาย ส่วนที่สำคัญ ชีวิตราชการทำให้ขงจื๊อได้เห็นความเหลวแหลก ความไม่ยุติธรรมของข้าราชการ ข้อนี้เป็นแรงดันให้ขงจื๊อคิดแก้ไขความเหลวแหลกทั้งหลายในแผ่นดิน

ในขณะที่ขงจื๊อมีความตั้งใจจะแก้ไขความประพฤติของข้าราชการ และใคร่จะสั่งสอนคนให้เป็นพลเมืองดีเพื่อช่วยเหลือบ้านเมือง พอดีเกิดความผันผวนขึ้นในบ้านเมือง เจ้าผู้ครองนครลู้ต้องหลบภัยการเมืองออกจากแคว้นนั้นไป ขงจื๊อหลบภัยตามไปด้วย มีข้าราชการผู้ซื่อสัตย์หมู่หนึ่งขอเป็นศิษย์ติดตามไป เพราะเลื่อมใสอยากทำราชการอยู่ใกล้กับขงจื๊อ

ชีวิตในตอนหลังระหกระเหินมาก ขงจื๊อเข้ารับราชการอยู่กับผู้ครองแคว้นอีกแห่งหนึ่ง คือ แคว้นจี มีความสนใจในเรืองการบ้านการเมือง ต้องการจะให้รัฐบาลปกครองคนด้วยความผาสุก ขงจื๊อวางหลักการปกครองบ้านเมืองไว้เช่นที่ว่า 

“ วิธีจะมีรัฐบาลที่ดี ผู้ปกครองควรจะต้องปกครองจริงๆ เสนาบดีต้องทำหน้าที่เสนาบดี พ่อต่อต้องทำหน้าที่ของพ่อ ลูกต้องทำหน้าที่ของลูก”

"ประชากรเป็นส่วนสำคัญที่สุดของรัฐ สวรรค์ย่อมเห็นตรงกับมหาชนเสมอ สวรรค์ฟังเสียงมหาชน ฉะนั้นผู้ปกครองรัฐหรือประเทศต้องเอาชนะใจประชาชนเสียก่อนแล้วจึงจะได้อาณาจักร หากไม่เอาชนะใจประชาชนแล้ว อาณาจักรก็จะหลุดลอยไป"

“ประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งรัฐบาลใดๆควรจะได้ ไม่ใช่มาจากการเก็บภาษีอากรอันเป็นที่เดือดร้อนของประชาชน แต่ประโยชน์ต้องมาจากคนทั้งหลายที่มีความประพฤติดี มีความเชื่อว่ารัฐบาลปกครองด้วยดี”

หลักการปกครองหรือหลักรัฐศาสตร์ของขงจื๊อนี้ ในตอนแรกก็ไม่ค่อยได้รับความเอาใจใส่มากนัก แต่ขงจื๊อมีความพยายามสอนคนอยู่เสมอไม่เคยทอดทิ้งหน้าที่ครู สอนเรื่อยไป จนมีศิษย์ในเวลานั้นประมาณ 3,000 คน และศิษย์ส่วนมากมาจากตระกูลยากจน ไม่ใช่เฉพาะสอนหลักรัฐศาสตร์เท่านั้น ที่เน้นมากก็คือ ศีลธรรม ต้องการที่จะจรรโลงประเทศให้มีความเจริญด้วยศีลธรรม เป็นการแก้ไขปัญหาสังคม เช่น ได้วางหลักสายสัมพันธ์ 5 ประการให้คนรู้จักหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน จนถึงกับได้ตั้งโรงเรียนสอนจริยธรรมขึ้น ขงจื้อจึงกลายเป็นอาจารย์คนแรก ได้สั่งสอนวิชาศีลธรรมวัฒนธรรมและปรัชญาอย่างจริงจังในสมัยนั้น ศิษย์ของขงจื๊อก็ทวีมากขึ้นตามลำดับ หลักปรัชญาที่ขงจื๊อสอนเช่นที่ว่า “ถ้าท่านยังไม่รู้ความเกิด จะไปรู้ความตายได้อย่างไร” "ถ้าท่านไม่อยากให้คนอื่นทำอันตรายแก่ท่าน ท่านก็อย่าไปทำอันตรายแก่คนอื่น” ยิ่งวันผ่านไปความพยายามของขงจื๊อก็ไม่เคยย่อหย่อน และศิษย์ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีชื่อเสียงขจรขจายไปไกล ในที่สุดบ้านเมืองเห็นความดีจึงแต่งตั้งขงจื๊อให้เป็นผู้มีหน้าที่ตรวจราชการฝ่ายยุติธรรมตามหัวเมืองต่างๆ ปรากฏว่าขงจื๊อยิ่งมีโอกาสได้ศึกษาความเป็นไปของคนและการบ้านการเมืองในที่ต่างๆ เมื่อไปตรวจราชการ เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยเคลื่อนที่ แห่งใดมีการปกครองดีขงจื๊อก็ส่งเสริม แห่งใดมีการปกครองไม่ยุติธรรมขงจื๊อก็ช่วยเหลือแก้ไขการปกครองของแคว้นนั้นๆเรื่อยไป ได้พยายามท่องเที่ยวสั่งสอนคนอยู่อย่างนี้เป็นเวลากว่า 10 ปี จึงกลับเข้าไปอยู่ในแคว้นลู้ตามเดิม ทางแคว้นลู้ขอร้องให้ขงจื๊อเข้ารับราชการอีก แต่ขงจื๊อปฏิเสธ เพราะต้องการจะใช้เวลาสั่งสอนคนและในบั้นปลายชีวิตต้องการใช้เวลารวบรวมคำสอนของตนขึ้นเป็นตำรา และปรับปรุงแก้ไขตำราเก่าๆที่เคยใช้สอนแต่งไว้ให้ดีขึ้น


บั้นปลายชีวิต

เมื่ออายุ 69 ปี ขงจื๊อได้รวบรวมคำสอนของตนขึ้นเป็นตำรา มีวิชาปรัชญา วิชากาพย์กลอน วิทยาศาสตร์ วิชายิงธนู ประวัติศาสตร์ และวิชาดนตรี ด้วยวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่ขงจื๊อเคยสอนมาทั้งหมด ขงจื๊อไม่ส่งเสริมการกระทำใดๆที่ฟุ่มเฟือย ศิษย์ที่ขงจื๊อพอใจมากที่สุดคือ ศิษย์ที่มีวิชาหนังสือดีและยิงธนูดี

ขงจื๊อถึงแก่กรรมด้วยอารมณ์ไม่สู้ราบรื่นนัก เมื่ออายุ 73 ปี ในปี ค.ศ. 479 ก่อน ค.ศ. ก่อนสิ้นชีพขงจื๊อพูดว่า “คนที่น่ากลัวที่สุดคือ เสนาบดีผู้ทรยศ และลูกที่ไม่เชื่อฟัง” และเมื่อใกล้จะหมดลมหายใจได้กล่าวไว้เป็นคติแห่งชีวิตว่า “ขุนเขาจะต้องสลายไป เสาหลักอันแข็งแกร่งก็จะหักสะบั้นลงไป ชีวิตของนักปราชญ์ก็ร่วงโรยไปเหมือนรุกขชาติ ในอาณาจักรนี้ไม่มีใครเชื่อฟังเรา เวลาของเรามาถึงแล้ว”

หลังจากที่ขงจื๊อล่วงลับไปแล้ว บรรดาผู้เลื่อมใสได้พากันรวบรวมคำสอนและหนังสือที่ขงจื๊อแต่งไว้ในหลักวิชาทางรัฐศาสตร์และศาสนา กลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์และมีค่าสูง นอกจากนี้ศิษยานุศิษย์ของขงจื๊อได้ช่วยกันเผยแพร่หลักจริยธรรมของขงจื๊อเป็นการใหญ่ พร้อมทั้งเผยแพร่คุณงามความดีของขงจื๊อด้วย จนในที่สุดต่อมาขงจื๊อก็ได้รับสมญานามว่าเป็นศาสดาองค์หนึ่ง และตำสอนของขงจื๊อก็เลื่อนฐานะเป็นศาสนามา ดังปรากฏประจักษ์อยู่ทุกวันนี้


คัมภีร์ศาสนาของขงจื๊อ

คัมภีร์ของศาสนาขงจื๊อ คือ เกง ทั้ง 5 และ ซู ทั้ง 4 คำว่า เกง หรือ กิง แปลว่า เล่ม บ้าง วรรณคดีชั้นสูง บ้าง ส่วนคำว่า ซู แปลว่า หนังสือ หรือ ตำรา เป็นคัมภีร์ที่จารึกด้วยภาษาจีน ขงจื๊อแต่งขึ้น หลานและศิษย์และนักปราชญ์หลายคน เช่น เม่งจื๊อ เป็นผู้รวบรวม


1. เกงทั้ง 5 คือ

1)ซี-กิง(Shi-King) เป็นกาพย์พรรณนาถึงหลักศีลธรรมและพระเกียรติพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ ซึ่งขงจื๊อแต่งเอง มี 305 บท

2) ซู-กิง(Shu-King) ขงจื้อเป็นผู้แต่งเอง มีเนื้อหาเป็นประวัติศาสตร์จีน ตั้งแต่ราชงศ์ถังจนถึงราชวงศ์มุกุง แฝงด้วยหลักจริยธรรมลึกซึ้ง

3) ยิ-กิง(Yi-King) เป็นคัมภีร์ที่บรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงทางจักรวาลวิทยา ขงจื๊อเขียนเองโดยสรุปเนื้อหาจากคัมภีร์เก่าๆ

4) ลิ-กิง(Li-King) เป็นคัมภีร์ว่าด้วยจารีตประเพณี พิธีกรรมต่างๆในสังคมจีนโบราณ เช่น พิธีรับรองบุตร พิธีแต่งงาน พิธีเซ่นไหว้ พิธีไว้ทุกข์ เป็นต้น ขงจื๊อเป็นผู้รวบรวมขึ้น เพราะถือว่าจารีตประเพณีเป็นรากฐานอันมั่นคงของชีวิต

5) ซุน-ชิว(Shun-Tsin) เป็นคัมภีร์ที่ขงจื๊อบรรยายถึงประวัติศาสตร์สมัยเจ้าผู้ครองแคว้นลู้ 12 คน


2. ซู ทั้ง 4 คือ

1) ต้าเซี่ยว(Ta Hsio) ศิษย์ของขงจื๊อเรียบเรียงจากคัมภีร์ลิ-กิง มีเนื้อหาว่าด้วยคุณธรรม

2) จุง-ยุง (Chun-Yung) เรียบเรียงจากคัมภีร์ลิ-กิงเช่นเดียวกัน ว่าด้วยการปฏิบัติสายกลาง

3) ลุน ยู (Lun Yu ) เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมภาษิตของขงจื๊อโดยสานุศิษย์

4) เม่งจื๊อ (Meng Tze) เม่งจื๊อเป็นชื่อของศิษย์ของขงจื๊อคนหนึ่ง มีชีวิตอยู่หลังขงจื๊อสิ้นชีวิตประมาณ 100 ปี ได้รวบรวมคำสอนของอาจารย์ขึ้นเป็นคัมภีร์


หลักคำสอนสำคัญบางประการของศาสนาขงจื๊อ


1.หัวใจของนักปกครอง

หัวใจอันเป็นหลักรัฐศาสตรืสำหรับผู้ปกครองมี 5 ประการ คือ

1) เหยิน(ความเมตตากรุณา) มุ่งทำงานเพื่อความผาสุก ความกินดีอยู่ดีของประชาชน โดยถือว่าความกินดีอยู่ดีเป็นยอดปรารถนาของนักปกครอง

2) ยิ(ความถูกต้อง) คือ ไม่ทำสิ่งที่ท่านไม่ต้องการผู้อื่น

3) ลิ(ความเหมาะสม) ประพฤติต่อคนอื่นด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีงามเสมอ

4) ซิ(ปัญญา) คือ ใช้ปัญญา ความเข้าใจ เป็นดวงประทีปในการทำงาน อย่าใช้อารมณ์ ให้ใช้เหตุผลนั่นเอง

5) ซุน(ความเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้) กล่าวคือ มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อทุกคน เพราะขงจื๊อถือว่าถ้าปราศจากความไว้วาใจเสียแล้ว โลกนี้จะตั้งอยู่ไม่ได้เลย


2.สายสัมพันธ์ทั้ง 5

งานหลักของขงจื๊อคือ งานแก้ไขสังคม ชำแหละความฟอนเฟะของสังคมให้สะอาด และความเหลวแหลกของการปกครองให้เรียบร้อย จึงวางหลักอันเป็นสายสัมพันธ์ที่เป็นหน้าที่อันบุคคลพึงปฏิบัติต่อกันและกันในสังคมไว้ 5 สาย คือ

1) สายสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง

2) สายสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา

3) สายสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา

4) สายสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง

5) สายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อน


3.หลักรัฐศาสตร์บางประการ เช่น

-ประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุดของรัฐ สรรค์ย่อมเห็นตรงกับประชาชนเห็น สวรรค์ฟังเหมือนประชาชนฟัง เพราะเสียงประชาชนเท่ากับเสียงสวรรค์ ผู้ปกครองต้องเอาชนะใจประชาชนให้ได้ จึงจะคุมอาณาจักรไว้ได้ หากไม่เช่นนั้นแล้วอาณาจักรก็หลุดลอย

-ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ที่รัฐบาลใดๆควรได้รับ ไม่ใช่มาจากเก็บภาษีอากร อันเป็นความเดือดร้อนของประชาชน แต่ต้องมาจากการที่ประชาชนมีความประพฤติดี และมีความเชื่อว่ารัฐบาลปกครองด้วยดี

-ผู้ขบถหรือทรยศโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เป็นผู้ทำตัวให้อยู่ระดับต่ำกว่าสังคม แต่ผู้ปกครองที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรมชื่อว่าเป็นผู้ทำตนให้ต่ำยิ่งกว่านั้น

-วิธีจะมีรัฐบาลที่ดี ผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้ปกครองจริง เสนาบดีจะต้องทำหน้าที่เสนาบดีจริงๆ พ่อต้องทำหน้าที่พ่อจริงๆ ลูกต้องทำหน้าที่ลูกจริงๆ


พิธีกรรมของศาสนาขงจื๊อ

1.การบูชาขงจื๊อ ที่หลุมฝังศพ จะมีคนโดยเฉพาะชาวศาสนิกขงจื๊อไปทำพิธีเซ่นไหว้บูชาเป็นประจำ 

2.การบูชาฟ้าดินและพระจันทร์พระอาทิตย์ ในปีหนึ่งๆจะมีรัฐพิธีบูชา 4 ครั้ง เป็นการบูชาฟ้าครั้งหนึ่ง บูชาดินครั้งหนึ่ง บูชาพระอาทิตย์ครั้งหนึ่ง และบูชาพระจันทร์ครั้งหนึ่ง โดยกระทำใน 4 ฤดู และ ณ สถานที่ 4 ทิศของกรุงปักกิ่ง การบูชาธรรมชาติทั้ง 4 นี้จะกระทำในกาลเวลาที่ต่างกันและสถานที่ต่างกัน

3.พิธีเคารพบูชา เทียน และวิญญาณบรรพบุรุษชาวจีนได้ค้นพบความมีอยู่ของเทพเจ้า เทียน และเชื่อกันโดยทั่วไปว่า เทพเจ้าเทียน นั้นประทับอยู่บนสวรรค์ฟากฟ้าอย่างแน่นอน เหตุนี้พวกเขาจึงพากันทำพิธีเคารพ เทียน ผู้เป็นเจ้าแห่งเทพทั้งปวง ผู้คุ้มครองโลก ทรงเป็นวิญญาณแห่งดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ฝน ไฟ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ภูเขา และลำน้ำ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ให้การเคารพบูชาวิญญาณของบรรพบุรุษของตน รวมทั้งบูชาดวงวิญญาณแห่งผู้บริสุทธิ์และวีรชนด้วย โดยเฉพาะดวงวิญญาณแห่งองค์จักรพรรดิ ถือว่าเป็นดวงวิญญาณแห่งความบริสุทธิ์ 


จุดหมายปลายทางสูงสุดของศาสนาขงจื๊อ

ศาสนาขงจื๊อมีจุดหมายปลายทางแห่งชีวิต อันเป็นความสุขที่แท้จริงและนิรันดร คือ เทียน หรือสวรรค์ เอกชนผู้ปฏิบัติชอบตายไปแล้วก็เป็นวิญญาณฝ่ายชอบที่จะเข้าถึงสวรรค์ได้ในที่สุด วิธีปฏิบัติให้เข้าถึงสวรรค์ได้ ต้องตั้งอยู่ในคุณธรรมของศาสนา โดยมีจริยธรรมทางกายทางวาจาและทางใจครบถ้วนในตนเอง


นิกายของศาสนาขงจื๊อ

ในสมัยราชวงศ์ซุง ได้มีศาสนิกชนของขงจื๊อพวกใหม่ เกิดขึ้น พวกนี้ยอมรับเอาความคิดเรื่องหยิน-หยาง รวมทั้งการเซ่นไหว้ตามประเพณีโบราณเข้ามาไว้ในหลักการของตนด้วย เพาะฉะนั้นเมื่อมีพวกใหม่ที่ผนวกความเชื่อพิธีกรรมเช่นว่านี้เข้าไป ส่วนพวกนับถือแบบเดิมหรือแบบเก่าก็ต้องมีอยู่ ก็อาจจะมีความลางเลือนแห่งความเป็นนิกายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ชัดเจนจนถึงขนาดจะกล่าวว่าเป็นนิกาย


สัญลักษณ์ของศาสนาขงจื๊อ

1.สัญลักษณ์ของศาสนาขงจื๊อโดยตรงได้แก่ รูปขงจื๊อ อาจจะเป็นรูปหล่อ รูปปั้น หรือแม้แต่รูปเขียน รูปวาด โดยอ้อมได้แก่ รูปคนจีนแต่งตัวโบราณ กำลังประสานมือแสดงคารวะต่อกัน เป็นภาพแสดงถึงวัฒนธรรมหรือมารยาททางสังคม ซึ่งขงจื๊อได้สอนเอาไว้ในคัมภีร์ลี-กิง 



2.สัญลักษณ์อีกอย่างคือ หยิน-หยาง เป็นภาพวงกลมแบ่งเป็นสองส่วนเท่ากันด้วยเส้นเว้า อันแสดงถึงธรรมชาติของโลก และของมนุษย์ที่มีลักษณะเป็นคู่ๆเช่นเดียวกับสัญลักษณ์ของศาสนาเต๋า



ศาสนาชินโต


ศาสนาชินโต



จุดเด่นและความเป็นมาของศาสนาชินโต

ศาสนาชินโต (Shintoism) เป็นศาสนาในสายมองโกล ที่มีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออก (East Asia) คือประเทศญี่ปุ่น ดินแดนแห่งดวงอาทิตย์อุทัย เป็นศาสนาประจำชาติญี่ปุ่น และอยู่ในญี่ปุ่น หรือเป็นของคนญี่ปุ่นเท่านั้น มิใช่ศาสนาสากล สถิติผู้นับถือประมาณ 119 ล้านคน (ประชากรทั้งหมดของญี่ปุ่น 127 ล้านคน) จำนวนเกือบร้อยละ 100 อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ส่วนในประเทศอื่นๆในเอเชียจำนวนน้อยมากเกือบไม่มีเลย ศาสนิกชนชินโตอาจนับถือพุทธ ขงจื๊อ หรือเต๋า ด้วย

คำว่า ชินโต แปลว่า ทางแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย (The Way of Gods) คำเดิมมาจากภาษาจีนว่า สิ่งเต๋า สิ่ง แปลว่า เทพเจ้า เต๋า แปลว่า ทาง นอกจะแปลว่าทางแห่งเทพเจ้าทั้งหลายแล้ว อาจจะหมายความถึง การบูชาเทพเจ้า หรือ คำสอนของเทพเจ้า หรือ ศาสนาของเทพเจ้า ก็ได้ ศาสนานี้เป็นศาสนาดั้งเดิมของชนชาติญี่ปุ่น ได้ชื่อว่า ชินโต ต่อเมื่อศาสนาพุทธและศาสนาขงจื๊อได้แพร่เข้าไปสู่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้แตกต่างจากศาสนาพุทธและศาสนาขงจื๊อ

ในบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายมากมายดังกล่าวแล้วนั้น มีเทพเจ้าที่เป็นใหญ่ คือ เทพอิซานางิ เพศชาย อีกองค์หนึ่งคือ อิซานามิ เพศหญิง เทพทั้งสองนี้เป็นมูลเหตุให้เกิดสรรพสิ่งในโลก โดยเฉพาะให้เกิดมีเทพีอมตะ เตระสุ โอมิคมิ คือ สุริยเทพี ผู้สร้างเกาะญี่ปุ่น เพศหญิง และให้เกิด เทพ ลีกิโยมิ คือ จันทร์เทพ เพศชาย เป็นสวามีของสุริยเทพี และมีบุตรชายคนแรกคือ ยิมมู เทนโน ผู้เป็นปฐมจักรพรรดิของญี่ปุ่น และมีบุตรชายหญิงอีกเป็นอันมาก ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงมีความรู้สึกว่าทุกคนเป็นลูกหรือเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ เป็นพี่น้องกัน พระเจ้าจักรพรรดิทุกพระองค์มีเชื้อชายจากพระอาทิตย์ เชื้อสายเดียวกับประชาชน คนญี่ปุ่นไม่ใช่คนธรรมดา แผ่นดินญี่ปุ่นก็มิใช่แผ่นดินธรรมดา ด้วยความรู้สึกอย่างนี้ทำให้คนญี่ปุ่นเป็นนักชาตินิยมอย่างแรง และมีความกล้าหาญยอมสละทุกสิ่งแม้ชีวิต เพื่อพระเจ้าจักรพรรดิของตน มีผลให้เกิดลัทธิบูชิโด คือ ความเป็นนักรบ แก่คนญี่ปุ่นทั้งชาติ เพื่อชาติและพระเจ้าจักรพรรดิญี่ปุ่น และเรียกพระเจ้าจักรพรรดิว่า มิกาโด หรือ เทนโน พระเจ้าจักรพรรดิเท่ากับเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ

ศาสดาของศาสนาชินโต

ความจริงแล้วเป็นที่รู้จักและยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ศาสนาชินโตไม่มีศาสดาหรือผู้ตั้งศาสนาที่ชัดเจน เพราะศาสดาชินโตนั้นเป็นศาสนาที่เกิดสืบเนื่องมาจากขนบธรรมเนียมประเพณีในการเคารพบูชาบรรพบุรุษ และการเราเคารพบูชาเทพเจ้าดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อศาสนาชินโตมีนิกายที่เรียกว่า เซคทาเรียนชินโต(Sectarian Shinto) ชินโตราษฎร์ อันเป็นบ่อเกิดแห่งนิกายย่อยๆต่างๆ และดูเหมือนว่าจะมีศาสดา เช่น นิกายเทนริกโย มีนางนากายามาเป็นศาสดาพยากรณ์ มีลักษณะเป็นศาสดาเกิดใหม่ ถึงกระนั้นก็ตาม ศาสนาชินโตดั้งเดิมจริงๆ ก็คงไม่มีศาสดาผู้ตั้งศาสนานั่นเอง

คัมภีร์ของศาสนาชินโต

คัมภีร์ของศาสนาชินโตที่สำคัญที่สุดมี 2 คัมภีร์ คือ

1.โกชิกิ คัมภีร์นี้รวบรวมเรียบเรียงขึ้นในปี ค.ศ. 712(พ.ศ. 1255) แต่เดิมมาท่องจำกันด้วยปากเปล่า เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยจดหมายเหตุเรื่องราวโบราณ เริ่มตั้งแต่กำเนิดพระเจ้า การเริ่มของเกาะญี่ปุ่นที่พระสุริยเทพีเป็นผู้สร้าง เริ่มประวัติศาสตร์ชาติญี่ปุ่น ตั้งแต่พระเจ้าจักพรรดิองค์แรกคือ ยิมมู จนถึงพระเจ้าจักรพรรดินีซุยโก(พ.ศ. 1171) นอกจากนั้นยังบรรยายถึงพิธีกรรมขนบธรรมเนียมประเพณีข้อห้าม การปฏิบัติทางไสยศาสตร์ การปฏิบัติเนื่องด้วยเทพเจ้าของญี่ปุ่นโบราณอย่างพิสดาร

2.นิฮอนคิ หรือ นิฮอนโชกิ คัมภีร์นี้รวบรวมขึ้นเป็นอักษรจีน ณ ราชสำนัก ในปี ค.ศ. 720(พ.ศ. 1263) เป็นคัมภีร์ว่าด้วยจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น กล่าวความเรื่องพระเจ้าตามเทพนิยายดั้งเดิม จนถึงสมัยจักรพรรดินียีโต(พ.ศ. 1245) รวมเป็นหนังสือ 30 เล่ม 15 เล่มแรกกล่าวถึงเทพนิยายและนิยายเป็นอันมาก ส่วน 15 เล่มหลัง กล่าวถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

นอกจากคัมภีร์ทั้ง 2 ดังกล่าว ยังมีคัมภีร์รองๆไปอีกมาก เช่น เยนงิ ซิกิ ที่ว่าบทสรรเสริญและพิธีกรรมในสมัยเยนงิ(พ.ศ. 1444-1566) และ มันโยชู หรือ บูนโยซิว(ชุมนุมแห่งใบไม้หมื่นใบ) ที่ว่าด้วยการเริ่มขึ้นแห่งแผ่นดินสวรรค์ การประชุมของเทพเจ้าหมื่นแสนองค์ เรื่องสุริยเทพี เรื่องสร้างเกาะญี่ปุ่น เรื่องประทานแผ่นดินให้เป็นที่อาศัยของชาวญี่ปุ่น เป็นต้น

หลักคำสอนสำคัญของศาสนาชินโต

1.ข้อห้ามและข้อแนะนำให้ปฏิบัติให้ได้ 13 ประการ

1) อย่าละเมิดบัญญัติของพระเจ้า

2) อย่าลืมความผูกพันอันดีต่อบรรพบุรุษ

3) อย่างล่วงละเมิดบัญญัติของรัฐ

4) อย่าลืมความกรุณาอันลึกซึ้งของพระเจ้าที่คอยป้องกันอันตรายต่างๆ

5) อย่าลืมว่าโลกเป็นครอบครัวเดียวกัน

6) ถ้าใครมาโกรธอย่าโกรธตอบ

7) อย่าเกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

8) อย่าเป็นคนติเตียนคำสอน

9) จงทำจิตใจให้ยุติธรรมเพื่อปกครองตนเอง

10) จงกรุณาต่อคนทั้งหลายยิ่งกว่ากรุณาตัวเอง

11) จงคิดอุบายให้เกิดความสุขใจทั้งในปัจจุบันและอนาคต หาความสุขให้แก่คนทั้งหลาย

12) จงปฏิบัติต่อบิดามารดาด้วยความเคารพ

13) จงปฏิบัติตนเป็นพี่น้องของคนทั้งหลาย

2.วจนะศาสนาชินโต


-ทั้งสวรรค์และนรกมาจากใจของตนเอง

-ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ทุกท่านรับพรของสวรรค์ชั้นเดียวกัน

-อยู่กับเทพเจ้าจะไม่มีกลางวันและกลางคืน ไม่มีทั้งไกลและใกล้

-ความเชื่อขอให้เป็นเช่นการเชื่อฟังฐานบุตรต่อบิดามารดา

-เมื่อใจของอมะเตระสุโอมิคมิ และใจของคนทั้งหลายไม่แบ่งแยกกัน ต่อจากนั้นก็จะไม่มีสิ่งเช่นความตาย

3.การบูชาในศาสนา

การบูชาในศาสนาชินโตก็คือ การไหว้เจ้า ชาวญี่ปุ่นจะออกไปไหว้ศาลเจ้า เพียงแต่งตัวให้สะอาด เข้าไปโค้งคำนับหน้าศาลเจ้า หลับตา ตบมือ เรียกดวงวิญญาณมารับการกราบไหว้ ถ้าไม่ตบมือก็ยืนเข้าสมาธินิ่งๆ อยู่ครู่หนึ่งแล้วค่อยกลับออกไป แต่อาจมีอย่างอื่นๆอีกบ้างตามที่นักบวชหรือผู้เฝ้าศาลเจ้าจะแนะนำให้ทำเครื่องอามิสบูชาที่จะต้องนำไปไหว้ศาลเจ้า มีนักบวชประจำศาลเป็นผู้จัดไว้แล้ว และมีไว้อย่างเดียวกันเหมือนกันหมดทุกศาลเจ้า เครื่องอามิสเหล่านั้นมี เหล้าสาเก 4 ถ้วยเล็กๆ ข้าวปั้น 16 ก้อน เกลือ 16 ก้อน ปลาสด ผลไม้ สาหร่ายทะเล และส้มสูกลูกไม้อีกไม่กี่ลูกนัก ผู้ไปบูชาไม่ต้องเสียเงิน

4.การปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุด

การปฎิบัติอย่างนี้มี 4 ประการ คือ

1)มีความคิดแจ่มใส(อากากิ โคโกโระ)

2)มีความคิดบริสุทธิ์สะอาด(คิโยกิ โคโกโระ)

3)มีความคิดถูกต้อง(ทาดาชีกิ โคโกโระ)

4)มีความคิดเที่ยงตรง(นาโอกิ โคโกโระ)

ใครทำได้อย่างนี้ตายไปจะไปเป็นเทพเจ้า ทั้ง 4 ประการนี้ย่อเข้าให้เป็นภาษาญี่ปุ่นเพียงคำเดียวว่า เซอิเมอิ-ชิน

5.คำสอนจริยศาสตร์อื่นๆ เช่น

-ให้พูดแต่คำสัตย์จริง

-ให้รู้จักประมาณความพอดี

-ให้ละเว้นโทสะ

-ให้มีความกล้าหาญในทางดี

-ให้งดเว้นจากความโกรธ

-ให้เป็นคนมีมุทิตาจิตมีความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี


พิธีกรรมของศาสนาชินโต


1.พิธีบูชาในศาสนา

ในศาสนาชินโตมีการบูชาคือการไหว้เจ้า การไหว้เจ้าของญี่ปุ่นไม่ต้องเสียหมูเห็ดเป็ดไก่เหล้ายา แล้วเอามากินกันเหมือนชาวจีน ชาวญี่ปุ่นจะออกไปไหว้เจ้า เพียงแต่เตรียมการโดยแต่งตัวให้สะอาด แล้วเข้าไปโค้งคำนับตรงหน้าศาลเจ้าซึ่งมีมากมายหลายแห่ง มีอยู่เกือบ 200,000 แห่ง จะมี โทรี(ประตูวิญญาณ) เป็นเครื่องหมาย แผ่นดินแห่งศาลเจ้าก็คือประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง เมื่อคำนับแล้ว ก็หลับตาตบมือ เรียกดวงวิญญาณ มารับการกราบไหว้ ถ้าไม่ตบมือก็จะยืนนิ่งๆเป็นสมาธิเฉยๆ สักครู่หนึ่งก่อนกลับออกไป

2.พิธีบูชาธรรมชาติ
ชาวญี่ปุ่นคิดว่าธรรมชาติต่างๆบนเกาะญี่ปุ่น เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของเทพเจ้า จึงมีฐานะควรแก่การเคารพบูชา ไม่ว่าจะเป็นมหาสมุทร แม่น้ำลำธาร แผ่นดิน พรรณพฤกษา ต้นไม้ใบหญ้าสัตว์ป่า และของศักดิ์สิทธิ์สูงส่งขององค์จักรพรรดิ คือ กระจกเงา ดาบ และอัญมณี ซึ่งถือว่าเป็นเทวสมบัติ มีวิญญาณที่เทพเจ้าประทานมา ล้วนแต่ควรแก่การเคารพบูชาทั้งนั้น ชาวญี่ปุ่นมีความรักธรรมชาติ สงวนป่าไม้ ภูผา พงไพร พืชน้อยใหญ่เสมือนชีวิตของตน


3.พิธีบูชาปูชนียบุคคล
-การบูชาวีรชน เรื่องความรักชาติ ชาตินิยม เทิดทูนชาติ ดูเหมือนว่าจะหาชาติใดเสมอเหมือนชาติญี่ปุ่นได้ยาก ใครๆที่แสดงความกล้าหาญ เสียสละชีวิตในสนามรบจะได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นเทพเจ้าควรแก่การเคารพบูชายิ่ง มีศาลเจ้าชื่อ Yasukuni Shrine เป็นที่รวมวิญญาณของวีรบุรุษและวีรสตรีนิรนามของชาติ แต่ละปีมีรัฐพิธีบูชาดวงวิญญาณผู้กล้าหาญเหล่านี้เป็นประจำเสมอมา


-การบูชาองค์จักรพรรดิ ชาวญี่ปุ่นถือว่าองค์จักรพรรดิ หรือองค์มิกาโด หรือ เทนโน(Mikado,Tenno) เป็นผู้สืบเชื้อหายมาจากดวงอาทิตย์ตลอดมาโดยไม่ขาดสาย องค์จักรพรรดิญี่ปุ่นเท่ากับเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ ญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันหมด ชาวญี่ปุ่นทั้งชาติ จึงยกย่องเทิดทูนเคารพบูชาองค์จักรพรรดิยิ่งกว่าชีวิต

-การบูชาบรรพบุรุษ มีผู้กล่าวว่าการบูชาบรรพบุรุษญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับของจีนแล้ว จะเห็นว่าของญี่ปุ่นจะสูงกว่าและศักดิ์กว่า ดูจะจริง เพราะญี่ปุ่นยอมรับว่าองค์จักรพรรดของตนสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า เป็นการสืบสายไม่มีขาดช่วง และองค์จักรพรรดิเท่ากับหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ จึงเป็นไปได้ที่คนญี่ปุ่นแต่เดิมมาจนถึงปัจจุบันเป็นเชื้อสายสืบต่อมาจากองค์จักรพรรดิที่เป็นเหล่ากอของเทพเจ้า ความเป็นบรรพบุรุษ จึงติดต่อกันมาเป็นสายเลือดเดียวกัน จึงมีการบูชาบรรพบุรุษทั้งของครอบครัวแต่ละครอบครัว และบรรพบุรุษในครอบครัวรวมอันหมายถึงชาติญี่ปุ่นโดยรวมด้วย

4.พิธีเกี่ยวกับเด็กทารกเกิดใหม่ 
อายุได้ 7 วัน ก็จะมีการอุ้มไปตั้งชื่อต่อหน้าแท่นบูชา ทำพิธีรับขวัญเด็ก เมื่อเด็กอายุได้ 31 หรือ 32 วัน ก็จะอุ้มเด็กไปไหว้ศาลเจ้านอกบ้านตามวัดบ้าง ตามภูเขาบ้าง ตามประเพณีแล้ว ไม่ว่าจะเกิดหรือตาย จะนิมนต์นักพรตมาทำพิธี หากไม่มีหรือหานักพรตไม่ได้ หัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้ประกอบพิธีเอง

5.พิธีเนื่องในวันนักขัตฤกษ์

เมื่อวันนักขัตฤกษ์มาถึง ชาวญี่ปุ่นจะจัดให้มีขบวนแห่ มีการบรรเลงดนตรีและเต้นรำ นักพรตมีหน้าที่ทำพิธีอ่านบทสวดเบื้องหน้าแท่นบูชาที่ศาลเจ้าเพื่ออำนวยสวัสดิมงคล ให้เก็บเกี่ยวได้ผลดี ให้บ้านเรือนมีความสุข ให้มีผลสำเร็จในการออกรบทัพจับศึก ให้การปกครองเป็นไปด้วยดี และให้องค์จักรพรรดิทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติยิ่งยืนนาน

6.พิธีโอโฮฮาราซิ 

เป็นพิธีชำระครั้งยิ่งใหญ่ โดยมหากรุณาธิคุณขององค์จักรพรรดิผู้รับมอบหมายอำนาจมาจากเทพเจ้า อะมะเตระสุ โอมิคมิ ให้ประกอบพิธีด้วยการประพรม(การชำระล้าง) ด้วยน้ำบริสุทธิ์เป็นเบื้องต้น แล้วเซ่นสรวงสังเวยอันเป็นไปเพื่อการทดแทน(บาป) บรรดามุขมนตรีและพลเมืองของพระองค์ผู้กระทำพิธีนี้ ต้องทำความบริสุทธิ์ให้เกิดแก่ตนเองเพื่อปลดบาปออกไปให้พ้นจากตน



จุดหมายปลายทางสูงสุดของศาสนาชินโต


จุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิตของศาสนาชินโต อันเป็นความสุขนิรันดรและเป็นความสุขที่แท้จริง คือ เมื่อตายแล้วจะไปเป็นเทพเจ้า วิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดหมายดังกล่าว เมื่อมีชีวิตอยู่จะต้องจงรักภักดีต่อเทพเจ้า อันแสดงออกมาในรูปการเชื่อฟังเจตนาของเทพเจ้า และประกอบพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าและบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ รวมทั้งประกอบการปฏิบัติเพื่อความดีอื่นๆ โยเฉพาะอย่างยิ่งหลัก 4 ประการ(เซอิเมอิ-ชิน) เพื่อให้ได้รับพรและความคุ้มครองจากเทพเจ้า

นิกายสำคัญของศาสนาชินโต

ศาสนาชินโตมีนิกายจำนวนมาก แต่เมื่อจัดประเภทใหญ่แล้วมี 2 นิกาย คือ

1.ชินโตของรัฐ(State Shinto) หรือก๊กกะชินโต เป็นนิกายที่ทางราชการรับรองและอุปถัมภ์ ควบคุมดำเนินการแบบราชการ จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นักบวชเป็นคนของทางราชการ จะเที่ยวไปทำพิธีให้ใครต่อใครไม่ได้ จะต้องทำกิจอยู่เฉพาะศาลเจ้า และห้ามมิให้โฆษณากิจการใดๆ นิกายนี้เน้นหนักถึงความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ต่อมาได้ขยายคำสอนส่งเสริมให้คนกล้าหาญ สร้างหลักชาตินิยมอย่างรุนแรงตามแบบบูชิโด และเมื่อปีที่ 15 แห่งรัชสมัยจักรพรรดิเมยีมีพระบรมราชโองการ จากสวรรค์ มายังกองทัพทุกเหล่ามีความสำคัญว่า ให้รักชาติ รักความกล้าหาญ จงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ แม้ชีวิตก็สละได้ ต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ให้ถือว่าเท่ากับบัญชาจากสวรรค์ ตั้งแต่นั้นมาทหารญี่ปุ่นก็ได้รับเกียรติมาก ใครทำร้ายทหารไม่ได้ ทหารก็กลายเป็นตุ๊กตาไขลาน คอยทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาทุกอย่าง แต่ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี พ.ศ. 2488 นายพลแมคอาเธอร์ผู้ยึดครองเกาะญี่ปุ่น ได้ออกประกาศล้มเลิกชินโตแห่งรัฐและไม่ยอมให้ศาลเจ้าอิเซเป็นศูนย์กลางแห่งความเคารพของศาสนาชินโตอีกต่อไป(ศาลเจ้าอิเซสร้างโดยเจ้าชายโตโยสุกิอิริฮามะ ในรัฐกาลซูยิน ประมาณ พ.ศ. 573) อาจจะเพราะเห็นว่าทำให้คนฮึกเหิมในการรบโดยเชื่อมั่นในเทพเจ้าก็ได้ นิกายนี้ได้แสดงถึงความกลมกลืนกันระหว่างศาสนากับการเมืองที่เรียกในภาษาญี่ปุ่น “ไซเซอิ-อิทซิ” มีการใช้คำว่า โกโด(ทางแห่งพระจักรพรรดิ) เพื่อทำให้ความหมายคำว่าชินโตของรัฐชัดเชนขึ้น และมีความเด่นกว่าความหมายทั่วไปของคำว่า ชินโตโดยส่วนรวม


2.ชินโตของราษฎร์(Sectarian Shinto) หรือ ระโยหะชินโต เป็นนิกายที่ประชาชนนับถือแตกต่างกันไป นิกายนี้เป็นบ่อเกิดแห่งนิกายต่างๆอีกมากมาย ซึ่งได้ก่อเกิดมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา พอจะจัดเป็นนิกายใหญ่ๆได้ 13 นิกาย โดยแบ่งเป็นนิกายชินโตบริสุทธิ์ดั้งเดิมแต่โบราณ 3 นิกาย เป็นนิกายที่รวมเอาศาสนาอื่น เช่น พุทธ ขงจื๊อ ที่เข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่นเข้าผสมผสานกับศาสนาชินโต มี 5 นิกาย และเป็นนิกายที่ทำให้บริสุทธิ์และรักษาโรคด้วยความเชื่อ โดยมีจุดสำคัญอยู่ที่ผู้ตั้งนิกายใหม่ทั้งชายและหญิง มี 5 นิกาย

สัญลักษณ์ของศาสนาชินโต

1.โทรี ได้แก่ ประตูอันมีเสา 2 เสา มีไม้ 2 อันวางไว้ข้างบน ซึ่งมีประจำอยู่ที่ศาลเจ้าทุกแห่ง เป็นเครื่องหมายการเข้าสู่บริเวณศาลเจ้าเกือบทุกแห่ง(ศาลเจ้าเล็กๆอาจไม่มีโทรี) เป็นเครื่องหมายของการเข้าสู่บริเวณศาลเจ้าของศาสนาชินโต

แต่เดิม โทรี คือ คบไม้สำหรับให้นกขึ้นจับเพื่อคาบศพของคนตายไป(สวรรค์)

2. กระจก อันมีรูปลายดอกไม้

ทั้ง 2 สัญลักษณ์นี้พอให้รู้ว่าเป็นศาสนาชินโตได้ในบางกรณี แต่สัญลักษณ์ที่มีมาแต่โบราณเป็นสมบัติสืบทอดมากับบัลลังก์แห่งพระจักรพรรดิ และมีความหมายทางคุณธรรม น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่สมบูรณืว่า นั่นก็คือ สิ่งที่ในภาษาญี่ปุ่นว่า “ซานชูโน-ซิงกิ” อันได้แก่ สมบัติ 3 ประการ คือ

1)กระจก(ยตะ โน กาคามิ)

2)ดาบ(กูสะ นาคิ โนซิรุคิ)

3) รัตนมณี(ยาสะกะนิ โน มาคะ ตามะ)

กระจก เป็นเครื่องหมายแห่งปัญญา ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พระสุริยเทพี อมะเตระสุ โอมิคมิ ได้มอบให้หลานชายชื่อ นินิคิโน มิโกโด มาปกครองเกาะญี่ปุ่น โดยเหตุนี้ กระจกอาจเป็นเครื่องหมายแห่งพระสุริยเทพีก็ได้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ ศาลเจ้าอิเซ

ดาบ เป็นเครื่องหมายแห่งความกล้าหาญ ในฐานะเป็นการปรากฏแห่งเทพเจ้า ปัจจุบันประดิษฐานไว้ที่ศาลเจ้าอัทสุตะ

รัตนมณี เป็นสัญลักษณ์แห่งการบำเพ็ญประโยชน์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ประจำ ณ พระราชวังแห่งพระจักรพรรดิ

สรุปแล้วสมบัติทั้ง 3 นี้เป็นสัญลักษณ์ หมายถึง คุณธรรมทั้ง 3 คือ ปัญญา กล้าหาญ และการบำเพ็ญประโยชน์ อันเป็นคุณธรรมสำคัญในศาสนาชินโตนั่นเอง นับว่าเป็นการพัฒนาศาสนาชินโตในด้านคุณธรรมได้เป็นอย่างดี